“นางไอ่” ละครเพลงลำเรื่อง (Morlam in Theatre: A New Musical) ครั้งแรกของไทย

นวัตกรรมการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนผสมผสานกับละครเพลง รูปแบบการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ที่จะเปิดม่านการแสดงเป็นครั้งแรก ในงานสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วาระครอบรอบ 30 ปีสะท้อนการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรม เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดเผยว่า “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กำลังจะจัดงานวันสถาปนาคณะฯ ในวาระครบรอบ 30 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2567 นี้ และปีนี้เป็นปีพิเศษที่พวกเราชาวศิลปกรรม มข. ต้องการเสนอให้ได้เห็นว่า เราเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านศิลปกรรม เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของคณะฯ จึงจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย เพื่อแสดงศักยภาพชาวศิลปกรรม ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร โดยนำความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาจัดแสดง และสร้างพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมสัมผัส และเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา”

กิจกรรมงานสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยคณบดีฯ ย้ำว่าทุกกิจกรรมน่าติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแสดงละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ถือว่าเป็นไฮไลท์ที่ทุกคนห้ามพลาด เพราะเป็นผลงานการแสดงที่ต่อยอดจากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของ ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณสนับสนันจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรม
ร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นการนำหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนของชาวอีสานมาทำงานร่วมกับละครเพลง ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์มารวมตัวทำงานกันอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงโปงลางสินไซ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ได้มาร่วมบรรเลงดนตรีสดในการแสดงด้วย และที่สำคัญ คือ ผนึกกำลังศิลปินหมอลำรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ เอาไว้อย่างลงตัว

ผศ.ดร.พชญ ให้ข้อมูลว่า “การแสดงครั้งนี้ตั้งต้นหลังจากหลังเรียนจบ ป.เอก แล้วรู้สึกว่า อยากให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นในสตูดิโอได้ออกเดินทางต่อ และเข้าไปอยู่ในมิติของอุตสาหกรรมหมอลำได้จริง ผมมองว่างานการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ที่ค้นพบจากการวิจัย ซึ่งเรียกว่า “หมอลำอินเธียร์เตอร์ (Morlam in Theatre)” เป็นหมอลำประเภทใหม่ที่แตกต่างจากการแสดงหมอลำที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในตอนนี้ เหมาะกับการจัดแสดงในโรงละครหรือในพื้นที่ที่ต้องการผู้ชมสามารถฟังเรื่องราวได้เต็มอรรถรส ได้ฟังลำและการร้องที่แปลกใหม่ ได้ดูการแสดงที่เข้มข้นจากศิลปิน หมอลำ หรือนักแสดงที่เราชื่นชอบกับตัวละครที่เค้าสวมบทบาท นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้คณะหมอลำได้มีวิธีการจัดแสดงหมอลำหลังเสร็จสิ้นการแสดงตามฤดูกาลปกติ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ไม่ว่าหมอลำคณะเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ก็ทำได้ เพื่อให้การแสดงหมอลำมีความหลากหลาย เพิ่มเติมการแสดงแบบใหม่เข้าไปในระบบนิเวศการแสดงหมอลำ ให้ผู้คนได้เลือกรับชมตามชอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผู้ชมหมอลำกลุ่มใหม่ และขยายขอบเขตผู้ชมหมอลำให้หลากหลายและกว้างขึ้น” 

การกลับมาของละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งสำคัญ นอกจากจะได้รับแรงสนับสนุนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้รับการสนับสนุนจากศิลปินหมอลำ และคณะหมอลำมาผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะศิลปินหมอลำไอดอล ศิลปินจากคณะอีสานนครศิลป์  รวมถึง ศิลปินหมอลำอีกหลายท่าน ภายใต้การดูแลและประสานงานอย่างดียิ่งจากคุณสุชาติ อินทร์พรหม (เฮียหน่อย) ผู้บุกเบิกและสร้างปรากฏการณ์หมอลำฟีเวอร์จากรายการหมอลำไอดอลทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ด้วย

คุณสุชาติ กล่าวว่า “ผมได้ฟัง อ.ต้อง (ผศ.ดร.พชญ) เล่าถึงละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” ผมรู้สึกดีใจมากที่มีคนอีสานรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำหมอลำที่แปลกใหม่ ผมเองเป็นคนกรุงเทพที่เหมือนจะดูห่างไกลจากหมอลำ แต่เอาเข้าจริงแล้วหมอลำคือการแสดงอันเดียวเลยที่ทำให้ผมหลงใหลได้ขนาดนี้ ผมเลยทำอะไรที่เกี่ยวกับหมอลำ ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอลำ รายการหมอลำ และครั้งนี้คือ “ละครเพลงลำเรื่อง” ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ผมอยากทำด้วย ผมเลยไปชวนน้อง ๆ ศิลปินที่ผมดูแลมาร่วมงานนี้ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ พอทราบว่ามีพ่อครูแม่ครูหมอลำอีกหลายท่านมาร่วมงานนี้ด้วย ยิ่งรู้สึกว่า การแสดงได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ทั้งรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า ผมว่ามันเป็นการส่งต่อคุณค่าของศาสตร์หมอลำให้กัน เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับศิลปะการแสดงหมอลำ และยืนยันตัวตนของคณะศิลปกรรม มข. ผมเชียร์และเชิญชวนให้ทุกคนมาดูครับ เชื่อว่า “นางไอ่” จะสร้างความประทับใจให้ทุกคนได้อย่างแน่นอน”

เชิญชวนทุกท่านมาร่วมเปิดประสบการณ์รับชมการแสดงหมอลำแนวทางใหม่ Morlam in Theatre (A New Musical) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ละครเพลงลำเรื่อง ครั้งแรกในประเทศไทย โดยครั้งนี้นำวรรณกรรมอีสานคลาสสิคเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” มาตีความใหม่ และปรับบริบทเรื่องให้เป็นปัจจุบัน ภายใต้ชื่อเรื่อง “นางไอ่” เพื่อเสนอเรื่องราวของมนุษย์ผู้ซ่อนเร้นความลับอันดำมืดไว้ภายใต้ก้นบึ้งแห่งจิตใจ พร้อมกับการเผยธาตุแท้ของมนุษย์ทุกคนที่พัวพันในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจ การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำที่ยากจะหาทางออกได้ การแสดงนำเสนอจินตนาการใหม่ของตัวละครนางเอกในนิทานรักโรแมนติกมาเป็นนางเอกในเรื่องเล่าที่มีอยู่ในชีวิตจริง ซึ่งจะเหมือนหรือแตกต่างจากภาพจำของนิทานเรื่องเดิมอย่างไร และเรื่องนางไอ่จะจบลงแบบตำนานหนองหานล่มหรือไม่ต้องมาร่วมชมในวันที่ 3-5 กันยายน 2567 ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นำแสดงโดย อาย ปาลิตา อ๊อฟ สุรพล และนนท์ อชิระ จากหมอลำไอดอลซีซัน 1 สมทบด้วยนักแสดงมากความสามารถ อาทิ พิ้ง ปรางทิพย์ เดียร์ อภิญญา ตาอี๋ สาธิต ชาญชัย จตุรงค์ รุ่งฟ้า กุลาชัย ยิ้ม สมฤดี
แต้มสี อนุทัย นักแสดงตลกมากฝีมือ อาทิ ตุ๊บตั๊บ น็อต นภา อัจฉรา และนักแสดงอีกมากมาย กำกับการแสดงโดยพชญ อัคพราหมณ์   กำกับดนตรีโดย อาทิตย์ กระจ่างศรี  บทการแสดงโดย พชญ อัคพราหมณ์ พงศธร พุทธโคตร และสัจจาวุธ สุริยะดง   ประพันธ์กลอนลำโดย ธีรวัฒน์ เจียงคำ และบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย   อำนวยการผลิตโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ที่ปรึกษา ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์  ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น  คุณสุชาติ อินทร์พรหม ผู้บริหารคณะหมอลำอีสานนครศิลป์ และกรรมการบริการคณะศิลปกรรมศาสตร์

 

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวการแสดงได้โดยสแกน QR Code (ในโปสเตอร์)

หรือ Facebook Fanpage: Morlam Next Level

หรือโทรสอบถามได้ที่ 063-6529396, 082-1694963

 

 

 

Scroll to Top