คณะศึกษาศาสตร์ มข. ร่วมหารือ Gyeongsangnam Office of Education เกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูไทย สู่การเป็นครูนวัตกร

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจาก Gyeongsangnam Office of Education สาธารณรัฐเกาหลีใต้ นำโดย Mr.Lee Dong wook, Advisor and Assistant Superintendent ผู้แทน Kyungnam Education Office พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. ร่วมให้การต้อนรับและ หารือแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษา ณ คณะศึกษาศาสตร์ เมื่อวันอังคาร 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการศึกษา รวมถึงนวัตกรรมทางการศึกษาที่น่าสนใจของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้านการจัดการศึกษา และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Gyeongsangnam Office of Education ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาร่วมกันในโครงการวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาในอนาคต

รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร (ขวา) / Mr.Lee Dong wook (ซ้าย)
รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร (ขวา) / Mr.Lee Dong wook (ซ้าย)

การหารือดังกล่าว มุ่งเน้น การพัฒนาความร่วมมือให้ครูไทยสามารถเป็นนวัตกร สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา ที่ตอบสนองต่อโลกอุตสาหกรรมใหม่

ดำเนินการขับเคลื่อน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก Education sandbox การพัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้ของครู ที่จะนำมาสู่การผลิตครูพรีเมียม ตอบสนองต่อการจัดการศึกษาในบริบทของโลกยุคปัจจุบัน มีสภานโยบายอุดมศึกษา เป็นผู้ที่ผลักดันหลัก พร้อมหลายหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อน เช่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันนำในการพัฒนาเรื่องนี้ สอวช.  คุรุสภา มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู และ บพค. ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งทุนวิจัย เจรจาความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ

โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญของชาติ

โดยคณะศึกษาศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการดึงสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค มาช่วยกันสร้างโมเดลการพัฒนาครู ทั้งครูใหม่ และครูประจำการที่จะต้องกลับเข้ามา ReLearn และ UpSkill ซึ่งในการประชุมครั้งแรก เป็นการหารือระหว่าง ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เกาหลีใต้ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทย ส่วนครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม 2567 เราจะเดินทางไปเจรจาความร่วมมือที่กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศเกาหลีใต้ หารือรายละเอียดของการ MOU การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาของครู และ เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เกาหลีใต้

ประเด็นที่ 2. คณะศึกษาศาสตร์ มีการตั้งวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราจะเป็นคณะชั้นนำระดับอาเซียนที่มุ่งเน้นนวัตกรรมทางการศึกษา  จะเห็นว่าเกาหลีใต้พัฒนามาพร้อมกับประเทศไทยหลังจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ปัจจุบันเกาหลีใต้ ได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็นชั้นนำในด้าน Innovative เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าทำอย่างไรคณะศึกษาศาสตร์ มข. ที่จะเป็นคณะชั้นนำทางด้านนี้ เราควรจะไป Transfers องค์ความรู้บางอย่างกับเกาหลีใต้ ในขณะเดียวกันเราจำเป็นจะต้องมี Project ร่วมพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาด้วยกัน โดยใช้ฐานของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมในการสร้างโปรเจ็คความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาการศึกษา ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำของเกาหลีใต้ ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลของเกาหลีใต้ในด้านการพัฒนาการศึกษา คือ Aero Thinking ซึ่งบริษัทเหล่านี้ผลิตเทคโนโลยีทางด้านการศึกษา

คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวตอนท้ายว่า ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้นโยบายในการร่วมหารือครั้งที่ 1 ว่า อว.มีความคาดหวังจะเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนโครงการในปีงบประมาณ 2568 โดยเฉพาะการพัฒนาประสบการณ์ทางการศึกษาแนวใหม่ การใช้นวัตกรรมทางการศึกษา รวมถึงเราจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้ใช้ หรือ User เท่านั้น แต่เราจะสามารถสร้าง  Innovation ทางการศึกษาใหม่ๆ แบบเกาหลีใต้ได้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายผลแล้วนำไปใช้กับโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงการขยายผลความร่วมมือไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมกทางการศึกษาได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาให้ครูไทยสามารถเป็นนวัตกร สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อโลกอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต นั่นเอง

 

ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : คณะศึกษาศาสตร์ มข.

Empowering Educators: KKU Partners with South Korea’s the Gyeongsangnam Office of Education for Innovation-Driven Teaching

https://www.kku.ac.th/18505

 

Scroll to Top