มข. จัดงานเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมอบโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2565

________เมื่อวันเสาร์ ที่ 2 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ได้จัดงานมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ ศิลปินมรดกอีสาน และ ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2565 เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มีผู้ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน 26 ท่าน และ 2 องค์กร  โดยมี นายสมศักดิ์  จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  เป็นประธานในพิธี นำถวายความเคารพและกล่าวคำถวายอาเศียรวาทราชสดุดี พร้อมด้วย รศ.ดร. นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ นางกมนรัตน์  สิมมาคำ  วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น  ผศ.ดร.สมพงษ์ สิทธิพรหม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความปลอดภัย   นายวรศักดิ์  วรยศ  ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ  เป็นการดำเนินการจัดงานอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของโควิด 19 อย่างเคร่งครัด มีการตรวจคัดกรองโควิด 19 ด้วย ATK ให้กับผู้ร่วมงานทุกคน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รักษาระยะห่าง  ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

________นายสมศักดิ์  จังตระกุล  นำกล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี และกล่าวถวายชัยมงคล เนื่องในวโอกาสมหามงคล วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความว่า  ขอพระราชทานกราบบังคมทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท  ข้าพระพุทธเจ้า นายสมศักดิ์  จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ในนามพสกนิกรทุกหมู่เหล่าชาวจังหวัดขอนแก่น ที่มาชุมนุมพร้อมเพรียงกันในวันนี้ ล้วนมีความปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายชัยมงคล เนื่องในวโรกาสมิ่งมหามงคลสมัย วันคล้ายวันพระราชสมภพของใต้ฝ่าละอองพระบาทที่เวียนมาบรรจบครบในครั้งนี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้า มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงดำรงศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนเป็นมรดกของชาติ  ทรงกอปรพระราชกรณียกิจอเนกอนันต์ เพื่ออนุเคราะห์ อนุรักษ์ และพัฒนา สืบสานศาสตร์และศิลป์แห่งวัฒนธรรมของทุกภูมิภาคให้รุ่งโรจน์วัฒนาจนเป็นที่ประจักษ์ของปวงชนทั่วโลก  พระอัจฉริยภาพกิตติขจรแผ่ไพศาลนี้ ประกาศพระเกียรติแห่งพระสมัญญา เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย.   ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงเป็นเจ้าฟ้าองค์ “วิศิษฏศิลปิน” ทรงเป็นเมธีวัฒนธรรม ผู้เป็นเลิศทางศิลปะและประเสริฐเลิศกว่าศิลปินทั้งปวง ทรงเสริมสร้างเกียรติไพบูลย์แก่ชาติด้านศาสตร์และศิลป์ต่างๆ เป็นที่แซ่ซ้องสาธุการไปทุกหนแห่ง ทรงเป็นดั่งมณีรัตนะของเหล่าศิลปินทุกศาสตร์และทุกสาขาอาชีพ ทั้งด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ วรรณศิลป์ การศึกษา การสาธารณสุข ศาสนา โภชนาการ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงพระปรีชาสามารถนี้ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ รัฐบาลจึงมีมติให้ วันที่ ๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติใต้ฝ่าละอองพระบาท ที่ทรงเป็นแบบอย่าง และทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่างๆ ให้ยั่งยืนตกทอดถึงลูกหลานไทยสืบต่อไป”
________“ในวโรกาสอันเป็นมหาอภิลักขิตมงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพของใต้ฝ่าละออง    พระบาท เหล่าปวงข้าพระพุทธเจ้าขออาราธนาพระมหาบุญบารมีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ โปรดแผ่พระฉัพพรรณรังสีโอภาส อำนวยอภิบาล และดลบันดาลสวัสดีให้ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ สถิตย์สถาพรเป็นมหาวชิรฉัตรแห่งปวงชนชาวสยามตราบชั่วจิรัฐติกาลเทอญ”

________ก่อนพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ เป็นการขับร้องหมอลำถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย หมอลำ ดร. ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536 และ นายพงศพร อุปนิ หมอแคน  และพิธีการมอบโล่ เชิดชูเกียรติ “ศิลปินมรดกอีสาน”ประจำปี 2565 ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์  จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  เป็นผู้มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ แก่ผู้ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน 26 ท่าน และ 2 องค์กร ประกอบด้วย

ผู้ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน

สาขาทัศนศิลป์

  1. นายไสว แกล้วกล้า                    (จิตรกรรมร่วมสมัย)
  2. นายมงคล วงศ์กาฬสินธุ์ (จิตรกรรม)
  3. นายเทอดเกียรติ พรหมนอก (สื่อผสม)
  4. นายเดช นานกลาง (ประติมากรรม)
  5. นายสุรโชติ ตามเจริญ (หัตถกรรมผ้าทอ)

สาขาวรรณศิลป์

ดร.สุทัศน์  วงศ์กระบากถาวร (ทัศนาวดี)              (วรรณกรรมร่วมสมัย)

สาขาศิลปะการแสดง

  1. นางชวาลา หาญสุริย์ (หมอลำยุภาพร หาญสุริย์) (หมอลำเรื่องต่อกลอน)
  2. นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (นักร้องเพลงเพื่อชีวิต)
  3. นายสมานชัย โต๊ะงาม (สมานชัย เสียงระทม)        (กันตรึม)
  4. นางสาวศิริพร อำเคน (ศิริพร อำไพพงษ์)         (นักร้องลูกทุ่งหมอลำ)
  5. นางทิม สอนนา (สุนารี ราชสีมา)                 (นักร้องลูกทุ่ง)

รายชื่อผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์

สาขาเกษตรกรรม                                      

  1. นายไพรัตน์  ชื่นศรี
  2. โรงเรียนมีชัยพัฒนา (สำนาน  ไชยโคตร)

สาขาหัตถกรรม

  1. นางสมเพียร  จรรยาศิริ
  2. นางสาวจุฑาทิพ   ไชยสุระ

สาขาแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย

นายพีรชัย   วงษ์เลิศ

สาขาวิสาหกิจและธุรกิจชุมชน

สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ทัพไทย    นางสาวขนิษฐา   อ่อนศรี  (ผู้จัดการ)

สาขาศิลปกรรม

  1. นางทองปริม    พลตรี
  2. นางสาวบุญล้อม   พิกุลศรี
  3. นายสุพัฒน์   บัวนุภาพ
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตนุพล   เอนอ่อน
  5. นายก้องพิพัฒน์   กองคำ

สาขาภาษาและวรรณกรรม

พระมหาดาวสยาม  (วชิรปัญโญ)

สาขาศาสนาและประเพณี  

นายบุญหนัก   สาดา

สาขาสื่อสารวัฒนธรรม

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมชาย  นิลอาธิ
  2. นางณัฐพร   จ่าโส
  3. นายกิตติ์ธนัตถ์    ฐาณพิสิษฐ์
  4. นายปรีชา    การุณ
ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร ศิลปินมรดกอีสานประจำปี 2565 สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย)

________จากนั้น  ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร ศิลปินมรดกอีสานประจำปี 2565 สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ตัวแทนศิลปินมรดกอีสาน กล่าวว่า “วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของศิลปินมรดกอีสาน กล่าวแสดงความรู้สึกในพิธีเชิดชูเกียรติในวันนี้  ก่อนอื่นขอแสดงความรู้สึกว่า กระผมมีความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการจัดงานในวันนี้ ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ซึ่งทางราชการได้ถวายพระสมัญญาพระองค์เป็น “วิศิษฏศิลปิน” นับว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านเลื่องลือไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีงาม ให้ศิลปินทุกท่านได้สร้างสรรผลงานศิลปะทุกแขนงอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง  ขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ให้โอกาสและจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานในวันนี้ ขอขอบคุณผู้ที่รวบรวมผลงานของศิลปินมรดกอีสานทุกท่าน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติในวันนี้  ในนามของศิลปินมรดกอีสานทุกท่าน  ขอตั้งปณิธานว่า จะพยายามสร้างสรรค์ จรรโลงงานด้านศิลปะวัฒนธรรม และวัฒนธรรม อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญารากเหง้าของท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงความเป็นถิ่น ความเป็นไทย นำไปสู่สากลให้เป็นที่ยอมรับของแวดวงงานศิลปะอย่างต่อเนื่องยาวนานสมกับที่ได้รับเกียรติจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันนี้”

ผศ.ตนุพล  เอนอ่อน ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาจิตรกรรมร่วมสมัย ปี 2565

________ผศ.ตนุพล  เอนอ่อน  ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาจิตรกรรมร่วมสมัย ประจำปี 2565 กล่าวว่า “ก่อนอื่นขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีโครงการการสนับสนุนรางวัลเชิดชูเกียรติให้มอบรางวัลศิลปินมรดกอีสาน และรางวัลให้แก่ผู้มีผลงานวัฒนธรรมดีเด่น ตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา  ในช่วงนี้ แม้ว่าเราจะสวมใส่หน้ากากไม่อาจมองเห็นใบหน้าได้เต็มๆ แต่ผมเห็นแววตาที่เต็มไปด้วยความยินดี  แววตาที่บ่งบอกถึงความปิติ ของความเป็นคนอีสาน ผมในฐานะเป็นคนอีสาน ลูกอีสานร้อยเปอร์เซ็นต์ รางวัลที่ถืออยู่ในมือ และทุกท่านถือในมือในวันนี้ ไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จ หรือชื่อเสียงเกียรติยศ ในวันที่ 2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2565 เท่านั้น รางวัลชิ้นนี้ยังเป็นหลักฐานที่ย้อนไปในอดีตของศิลปินแต่ละท่าน ของแต่ละองค์กร ที่ได้รับรางวัลในวันนี้  บางคนมีผลงานย้อนหลังไปร่วม 30-40 ปี เป็นสิ่งที่ทุกท่านทั้งในอดีตและวันนี้ ผมเชื่อว่า  คงภาคภูมิใจทั้งแก่ตัวเอง แก่วงศ์ตระกูล และหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่  ขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และขอปวารณาตนว่า หากทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ดี ศูนย์วัฒนธรรม  หากมีกิจกรรม หรือโครงการที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่าพวกเราสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมที่องค์การต่างๆ ก็ยินดีที่จะเข้าร่วมตลอดไป”

________หลังพิธีการ ได้มีการแสดงจากศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2565 ได้แก่  กันตรึมสมานชัย  เสียงระทม ชุดกันตรึมแห่ขันหมาก   หมอลำบุญล้อม  พิกุลศรี ชุดลำผญาอนุรักษ์มรดกไทย   หมอลำสุพัฒน์  เสียงทอง ชุด ลำเต้ยไทยทำไทยใช้   หมอลำณัฐพร  จ่าโส ชุดไหว้ครูลำเพลิน  และการแสดงมรดกแผ่นดินศิลปินมรดกอีสานสืบสานงานศิลป์  โดย นายทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์   ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2562  การกล่าวแสดงความยินดี โดย นางบุญศรี  ยินดี  ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 22561 และการแสดงจาก คุณแม่นกน้อย อุไรพร  ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงปี 2561 เป็นการปิดพิธีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติอย่างงดงาม และเป็นเกียรติยิ่ง

ข่าว   :   วัชรา   น้อยชมภู

ภาพ  :    ณัฐวุฒิ  จารุวงศ์   /   วัชรา   น้อยชมภู

Scroll to Top