โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จัดพิธีรับมอบห้องคัดกรอง และ ห้องตรวจเชื้อผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 พระราชทาน

ตามที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 และได้ทรงพระราชทานห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยห้องดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SCG HEIM และLiving Solution โดยเอสซีจี ประกอบด้วยห้องตรวจคัดกรอง (Modular Screening Unit) ใช้ภายนอกอาคาร แบบมาตรฐาน
ขนาด 3 ห้อง และห้องตรวจหาเชื้อ(Modular Swab Unit)ใช้ภายนอกอาคารแบบมาตรฐาน ขนาด 3 ห้อง

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563   นายอภิชาต  จงสกุล  รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อส่งมอบห้องคัดกรอง  และห้องตรวจเชื้อผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19พระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่โรงพยาบาลฯ โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคณะผู้บริหาร เป็นผู้รับมอบ

สำหรับห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit) จะแบ่งพื้นที่ของแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง ออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยบุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit ที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล และพูดคุยซักประวัติของผู้ที่มีความเสี่ยงผ่านกระจกที่มีอุปกรณ์สื่อสาร (Intercom) และภายในห้องคัดกรอง จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive Pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bi-polar Ion
(ไบ-โพลา ไอออน) เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามาจึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจจะเป็นพื้นที่โล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ และลดโอกาสการติดเชื้อ

ส่วนห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากขณะที่ตรวจ
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจจะไอหรือจามทำให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกมา ดังนั้น การออกแบบ
ห้องตรวจจึงจำเป็นต้องมีความรัดกุม โดยบุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องตรวจหาเชื้อ
ที่ถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive Pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศ
ภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bi-polar Ion (ไบ-โพลา ไอออน) เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจ จะถูกแยกออกมาและปรับความดันอากาศให้เป็นกึ่งลบ (Semi-Negative Pressure) หรือความดันลบ (Negative Pressure) เพื่อป้องกัน
การฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส พร้อมเพิ่มการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษเพื่อฆ่าและทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) ทุกครั้งหลังการใช้งานห้อง การดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อทำการ
เก็บตัวอย่างให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะแยกเป็นส่วนย่อย ๆ (Cell) เพื่อให้สามารถแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23  มิถุนายน ปีพุทธศักราช 2518 ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเขอนแก่นและเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาด 1,200  เตียง  รองรับผู้ป่วยในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังมีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19  ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2563 เป็นต้นมา  มีจำนวนผู้ป่วยคัดกรอง รวม 5,726  ราย

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ผมและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนตลอดทั้งประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นทุกหมู่เหล่า รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
อย่างหาที่สุดมิได้ โดยจะนำนวัตกรรมห้องคัดกรองและห้องตรวจหาเชื้อที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล
ต่อการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อแพร่กระจายเชื้อโรคทางอากาศ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยอื่น ๆ ในโรงพยาบาล

 

Scroll to Top