COLA KKU จัดเวทีสรุปบทเรียนและรายงานผลการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสา ระยะที่ 1

โครงการยุวชนอาสา เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เด่นชัดด้านขับเคลื่อนการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มุ่งเน้นความต้องการพื้นฐานของสังคมเป็นหลัก ถือเป็นโอกาสของการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการยุวชนอาสา เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา โดยช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาในโครงการยุวชนอาสา ได้ลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ 15 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเวลา 1 ภาคเรียน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ร่วมกิจกรรมกับชุมชน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับชุมชน ตลอดจนนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปปรับใช้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น

ดังนั้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เวลา 13.30-16.00 น. วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้จัดประชุมสรุปบทเรียนและรายงานผลการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสา ระยะที่ 1 พื้นจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี รศ.ดร.พีรสิทธิ์  คำนวณศิลป์ คณบดี เป็นประธานในการประชุม พร้อมทั้งคณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมรับฟังการรายงานผลการดำเนินโครงการที่อาจารย์แต่ละคนรับผิดชอบ โดยโครงการนี้ จะมีคณาจารย์ของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น เป็นที่ปรึกษาและนิเทศงานให้กับกลุ่มนักศึกษา คอยกำกับ ติดตาม และดูแลตลอดระยะเวลาที่ลงพื้นที่ชุมชนดังกล่าว มีการนำองค์ความรู้ในชั้นเรียนไปบูรณาการในการลงพื้นที่ทั้ง 14 โครงการ อันเป็นการพัฒนานักศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง นำองค์ความรู้ที่หลากหลายในสถาบันอุดมศึกษา มาบูรณาการแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ พัฒนาไปสู่การประกอบอาชีพให้กับตนเองได้ในอนาคต และในระยะสุดท้ายของโครงการ กลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ต่างประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จึงได้มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการรายงานผลของโครงการฯ ในแต่ละระยะให้เหมาะสมกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยนำระบบดิจิทัล สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาช่วย

     โครงการยุวชนอาสา ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ดำเนินโครงการ มีทั้งสิ้น 14 โครงการ ได้แก่

  1. การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  2. การวิเคราะห์และการจัดการปัญหายาเสพติดให้โทษในชุมชน
  3. การสร้างการตระหนักรู้และพัฒนาแนวทางการจัดการขยะ
  4. การสำรวจและพัฒนาแนวทางการจัดการดูแลผู้สูงอายุ
  5. การบริหารจัดการน้ำชุมชน พัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
  6. การวิเคราะห์และแก้ใขปัญหายาเสพติดในชุมชนศรีฐาน
  7. การเสริมสร้างคุณภาพเศรษฐกิจของชุมชน โดยการมีส่วนร่วม
  8. การสำรวจและพัฒนาแนวทางการจัดการปัญหาขยะนอกเขต
  9. การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำชุมชน วิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
  10. การแสวงหาแนวทางการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี กรณีบึงใหญ่ ชุมชนคำบง
  11. การจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ การแก้ใขปัญหาการเผาทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ของชุมชน
  12. การสร้างการตระหนักและส่งเสริมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
  13. การเพิ่มศักยภาพการคัดแยกและจัดการขยะในครัวเรือน
  14. การสำรวจและจัดทำผังตำบลหลุบเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินและรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

     โครงการยุวชนอาสา เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เด่นชัดด้านขับเคลื่อนการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มุ่งเน้นความต้องการพื้นฐานของสังคมเป็นหลัก ถือเป็นโอกาสของการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาพ/ข่าว  จิตรลัดดา  แสนตา ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร COLA KKU

Scroll to Top