นศ. ศึกษาศาสตร์ มข. ปี 4 สร้างสรรค์บทความวิชาการต้านการทุจริต ตีพิมพ์วารสารระดับชาติ NACC Journal วารสารวิชาการ ป.ป.ช.

นายภูมินทร์ เกณสาคู และนายสรายุธ รัศมี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างชื่อด้วยการตีพิมพ์บทความวิชาการเรื่อง “แนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของสำนักงาน ป.ป.ช.” ได้รับการตีพิมพ์บน “NACC Journal วารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2567)โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

“เราเชื่อว่าการปลูกฝังจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต”

ทั้งสองเผยว่า แรงบันดาลใจในการทำวิจัยครั้งนี้มาจากความสนใจในประเด็นสังคม และการได้เรียนรู้จากหลักสูตรที่เน้นการวิจัยเป็นฐาน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาจริง และนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งบทความวิชาการดังกล่าวเกิดจากเข้าประกวดและได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (ประเภทนักศึกษา) ในโครงการประกวดบทความวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมรับทุนวิจัยต่อยอดพัฒนาบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่และตีพิมพ์

อ่านบทความวิชาการ : https://www.nacc.go.th/naccjournal/categorydetail/2024062810122543/20240628125624

“เราหวังว่าจะเป็นการสร้างแนวทางในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรดังกล่าว โดยเฉพาะความท้าทายเกี่ยวกับการนำไปปฏิบัติจริงและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วม และสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตให้กับผู้เรียนทุกภาคส่วน ครอบคลุมทั้งระบบการศึกษา พัฒนาความตระหนักรู้ของปัจเจกบุคคล ชุมชนและสังคม” นายภูมินทร์ กล่าว

ด้านนายสรายุธ กล่าวเสริมว่า “จากความพยายามที่ได้เขียนบทความในครั้งนี้ ซึ่งศึกษาทั้งในมิติของปัญหา ความท้าทาย โอกาสในการพัฒนาหลักสูตร ทั้งในความท้าทายเชิงนโยบายของรัฐ ได้แก่ การจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐ และการจัดการศึกษาของสถานศึกษา รวมถึงความท้าทายเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ หลักสูตรและเนื้อหา ครูผู้สอนและวิธีการสอน และผู้เรียน ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาในหลายมิติมากขึ้น เพื่อหาทางออกให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของสำนักต้านทุจริตศึกษา สำนักงาน ป.ป.ช.”

Scroll to Top