ผู้เชี่ยวชาญ มข.มองอนาคตภาษาไทย ผ่านปรากฏการณ์ “ใจฟู” ในวันที่กระแสต่างชาติพูด-เรียนภาษาไทยฟีเวอร์

    • “ใจฟู”
      “พระอาทิตย์กำลังไปนอน”
      “โอ้ว เก่งมาก”
      “จริง ๆ อร่อย”


วลีที่ใครหลายคนติดหูกับสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์จนเก็บไปพูดตามจนเป็นกระแส สะท้อนอะไรเกี่ยวกับอนาคตของภาษาไทยในสังคม วันนี้ 29 กรกฎาคม เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนมองปรากฏการณ์ภาษาไทยกับอินฟลูเอนเซอร์ชาวต่างชาติผ่านเลนส์ ผศ.ดร.อิศเรศ ดลเพ็ญ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ

Freepik

“แม้ว่าภาษาของเขาอาจจะฟังดูแล้วไม่เหมือนกับคนไทยที่พูดปกติ ต้องชื่นชมกลุ่มชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่เขาสามารถใช้ภาษาไทยได้ดีในระดับที่สามารถสื่อสารกับผู้ชมหรือแฟนคลับได้ ในความน่ารักตรงนั้นก็ทำให้เขามีผู้ติดตามค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยของเราเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน”

ภาษาไทยสไตล์อินฟลูฯ ต่างชาติ เพิ่มคำศัพท์ใหม่ ขยายความหมายเดิม

แม้เหล่ายูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ชาวต่างชาติจะใช้ภาษาไทยไม่ตรงตามหลักภาษา แต่ในมุมมองของผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ผศ.ดร.อิศเรศ ดลเพ็ญ มองว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของภาษา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะพูดไม่ชัด เพราะมีเรื่องของวรรณยุกต์และพยัญชนะที่อาจจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน หรือแม้ว่าจะมีคำบางคนที่ใช้ไม่ตรงตามความหมาย รวมถึงการเกิดกระแสคำศัพท์ใหม่ ๆ ออกมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของภาษาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ภาษาไทยเสียหายแต่อย่างใด


แม้จะเพี้ยนไปจากความหมายเดิม แต่ในเชิงอุปลักษณ์คำศัพท์ต่าง ๆ ล้วนเคยถูกใช้มาแล้ว เพียงต่อมามีการนำมาใช้ในบริบทและความหมายอื่นเพื่อเป็นการขยายความหมาย อย่างคำว่า “ใจฟุ หรือ ใจฟู” ในอดีตก็ไม่เคยมีการใช้คำว่า ฟู ร่วมกับคำว่าใจ แต่เมื่อนำมารวมกันก็ทำให้เกิดการขยายความหมายที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงดวงใจที่พองโตขึ้นมานั่นเอง

ภาษาไทยฟีเวอร์! ชาวต่างชาติสนใจเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการสื่อสารด้วยภาษาไทยของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือยูทูบเบอร์ต่างชาติหลาย ๆ ช่องก็สะท้อนให้เห็นถึงกระแสนิยมของภาษาไทย ซึ่งไม่เพียงกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น แต่ชาวต่างชาติทั่วไปก็สนใจมาเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น ผศ.ดร.อิศเรศ เปิดเผยว่า จากก่อนหน้านี้ชาวต่างชาติอาจมาเรียนภาษาไทยเพื่อทำธุรกิจหรือใช้ทำงาน แต่ปัจจุบันชาวต่างชาติเลือกเรียนภาษาไทยจากหลากหลายเหตุผล โดยเฉพาะความชื่นชอบในความเป็นไทยจากสื่อต่าง ๆ อย่างละคร ซีรีส์ที่เผยแพร่ทั้งวัฒนธรรม ภาษา และสถานที่ท่องเที่ยวในไทย จนทำให้เขาอยากรู้จักและเรียนรู้ทั้งภาษาและความเป็นไทยเพื่อเข้าใจผู้คนมากยิ่งขึ้น

“ภาษาไทยกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ และเชื่อว่า ในอนาคตภาษาไทยก็จะยังเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบลาว เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง รองลงมาจากภาษาอังกฤษแล้ว และไม่ใช่เฉพาะตัวภาษาที่เขารู้จักเราอย่างดี เรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของไทยเขาก็รู้จักเราเป็นอย่างดีผ่านตัวภาษาด้วย”

สำหรับสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อชาวต่างชาติมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยมีทั้งนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากฝั่งเอเชียทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน หรือจากยุโรป อเมริกาก็มาแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้ภาษาไทย ที่ต้องการมาเรียนเพื่อใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน หรือเรียนรู้บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ขณะที่บริษัทเอกชนก็มีการส่งพนักงานชาวต่างชาติมาเรียนภาษาไทยกับคณะฯ เพื่อนำความรู้ภาษาไทยไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สาขาวิชาภาษาไทยยังมีหลักสูตรรองรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนภาษาไทยในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมถึงโครงการอบรมระยะสั้น เช่น การใช้ภาษาไทยเชิงวิชาการ ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งนักศึกษาจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนีกำลังศึกษาอยู่ด้วย ซึ่งการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อชาวต่างชาตินี้ นับว่าเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9 การนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ ส่งเสริมการรับรู้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในระดับนานาชาติผ่านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างนักศึกษาไทยและต่างชาติภายใต้การเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อชาวต่างชาตินั่นเอง 

ต่างชาติเรียนภาษาไทยหวังไปเป็นอาจารย์สอนชาวจีน

ขณะที่ ผักบุ้ง (Yun Feng) นักศึกษาชาวจีน ระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เรียนภาษาไทยว่า มีโอกาสได้เรียนวิชาภาษาไทยที่ประเทศจีนกับอาจารย์ชาวไทยซึ่งสอนได้ดีและสนุก ทำให้ชอบภาษาไทยที่สะท้อนถึงทัศนคติและเป็นตัวแทนวัฒนธรรมไทยด้วย จึงตัดสินใจมาเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้ฝึกพูดภาษาไทยได้มากขึ้น แม้ช่วงแรกจะค่อนข้างลำบากเพราะยังฟังภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจ แต่โชคดีที่อาจารย์ทุกท่านให้ความช่วยเหลือและใจดีทำให้ตอนนี้ฟังภาษาไทยเข้าใจมากขึ้นแล้ว

“ช่วงนี้คำติดปากภาษาไทย คือ คำว่า ตายแล้ว เพราะกำลังจะสอบวิทยานิพนธ์เพื่อให้จบปริญญาโท และตั้งเป้าว่าจะเรียนภาษาไทยในระดับปริญญาเอกต่อ เพื่อไปเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้ชาวจีนที่ประเทศจีน เพราะตอนนี้ที่จีนคนอยากเรียนภาษาไทยเยอะมาก”

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ “ใจฟู” กับกระแสต่างชาติพูดไทย เที่ยวไทยจนกลายเป็นเรื่องฟีเวอร์ นับเป็นโอกาสสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่การสื่อสารกันให้เข้าใจเท่านั้น แต่ภาษาไทยยังเป็นวิชาแห่งโอกาสสำหรับชาวต่างชาติในการเรียนรู้วัฒนธรรม และรากเหง้าความเป็นไทยเพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพ หรือแม้แต่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับซีรีส์ หรือ ศิลปินไทยที่ชื่นชอบ สำหรับชาวต่างชาติที่มีความรู้ภาษาไทยพื้นฐานและสนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสมัครเรียนได้ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

KKU Expert Sees the Future of Thai Language Through the Phenomenon of “Jai-Fu” Amid Foreigners’ Thai Learning Fever

https://www.kku.ac.th/18313

Scroll to Top