มข. จับมือ ไอเน็ต (INET) MOU ขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการศึกษาและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาค

วันพฤหัสบดี ที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น.  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีลงนามข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมรับขวัญ ชั้น 3 โรงแรมบายาสิตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและแสดงความยินดีในการลงนาม รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์  กล่าวรายงานความเป็นมาของการลงนามความร่วมมือข้อตกลงทางวิชาการ และ คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวขอบคุณ และกล่าวถึงแนวทางความร่วมมือข้อตกลงทางวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น  ศ.ดร. กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน


     รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือทางวิชาการ กับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต (INET) ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการจัดกิจกรรมพิเศษร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิชาการและทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งสองหน่วยงานได้เคยลงนามความร่วมมือทางวิชาการระยะที่หนึ่งไปแล้ว โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน การร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองฝ่าย การร่วมมือในด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการบริการวิชาการสู่สังคม “ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างฐานความรู้และเทคโนโลยีให้กับนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอย่างยั่งยืน”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

     ด้าน คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ผู้ให้บริการ Cloud Computing และ Local Platform Service Provider ของไทยมากว่า 29 ปี   ความร่วมมือตลอด 5 ปี ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ INET มีเป้าหมายที่ชัดเจน 3 ด้าน คือ  ด้านแรก  การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือการพัฒนาระบบหนังสือรับรอง ผลการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Transcript) และระบบตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-verification) ร่วมกับสำนักพัฒนาและบริหารวิชาการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และการร่วมพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารจัดการฟาร์ม (Smart Farm Management) กับคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการผลิตและเพาะปลูกของเกษตรกรไทย โดยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างทันเวลา  ด้านที่ 2 ความร่วมมือด้านการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยี สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 12 รุ่น 5 หลักสูตร ได้แก่ ICT Fundamentals, Cloud, Network และ Docker, Big Data, โปรแกรมประยุกต์บนเว็บสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่, AI (Artificial Intelligence), และระบบจัดการสาธารณะในยุคดิจิทัล และ ด้านที่ 3 การดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ของคณาจารย์ นักศึกษา และผู้ประกอบการหรือกลุ่มบริษัทในเครือของบริษัท ส่งเสริมโครงการสหกิจศึกษา รับนักศึกษาจากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี รวม 41 คน รับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าปฏิบัติงานกว่า 591 คน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตในชุมชน

คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ INET
คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ INET

“ในระยะเวลา MOU 5 ปีต่อจากนี้ INET เชื่อมั่นว่าฐานความรู้และความสามารถของคณาจารย์ และ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนบริการ Cloud Computing และ Local Platform Service Provider ของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”

รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์
รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์

     และ รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า จากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่ผ่านมา มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  พัฒนาระบบทรานสคริปต์ดิจิทัล ด้านหลักสูตรและการจัดเรียนการสอน สนับสนุนและส่งเสริมด้านวิชาการในการรับนักศึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ ซีวี่ (CWIE) ด้านการบริการวิชาการ สู่ชุมชน เกิดความร่วมมือกับศูนย์วิจัยสู่การสร้างรายได้ต่อชุมชน และการจัดหางานให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ก่อให้เกิดการจ้างงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับภูมิภาคสูงขึ้น ซึ่งการลงนามข้อตกลงต่อจากนี้อีก 5 ปี  มีการตั้งเป้าหมาย คือ การสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองฝ่าย ทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านการเรียน การสอน การวิจัย และส่งเสริมให้มีกิจกรรมพิเศษร่วมกันตามความเหมาะสมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการและทรัพยากรร่วมกัน

 

ภาพ ข่าว  :  เบญจมาภรณ์  มามุข

Scroll to Top