วิศวะ มข. ประกาศพร้อมนำ 5 สาขาวิชา เข้ารับการประเมินรับรองมาตรฐานสากล ABET ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรให้เป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกับนานาชาติ

“มาตรฐาน ABET” หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology เป็นมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรหรือองค์กรวิชาชีพของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีการรับรองในมหาวิทยาลัย 42 ประเทศทั่วโลก 920 องค์กร 4,674 หลักสูตร วิศวะ มข.พร้อมเดินหน้าเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ABET ในการประกอบวิชาชีพระดับสากลภายในปี 2568”

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.

     รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าสู่กระบวนการ รับการประเมินรับรองมาตรฐานสากล ABET ว่า การตรวจประเมินจากคณะกรรมการ ABET เป็นการ จัดการศึกษาที่เราต้องการมุ่งเน้นตัวผู้เรียน ซึ่งการเรียนด้านวิชาชีพวิศวกรนั้น จะต้องออกแบบทางวิศวกรรมได้ ดังนั้นการเรียนการสอนจะต้องเน้นเป็นแบบ Outcome Base ก็คือเน้นทักษะการเรียนรู้ ซึ่ง ABET มีการกําหนดทักษะการเรียนรู้ไว้ที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับมาตรฐานอื่น ๆ ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์มากสำหรับนักศึกษาเราที่จะไปศึกษาต่อข้ามมหาวิทยาลัย หรือไปทำงานต่างประเทศ หากหลักสูตรมีการรับรองตามมาตรฐาน ABET จะถูกพิจารณารับเข้าโดยง่าย เพราะถือเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

     สำหรับโครงการ ABET ระยะที่ 2 มี 16 สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์ขอรับการรับรองหลักสูตรจาก ABET ภายในปี 2568 รวม 56 หลักสูตร โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมอยู่ด้วย  เราตั้งเป้าหมายในการนำ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และ สาขาวิชาวิศวกรรมระบบอิเล็กทรอนิกส์   เข้ารับการประเมินรับรองมาตรฐานสากล ABET เพื่อยกระดับด้านวิชาชีพวิศวกรให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ  ขณะนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ดำเนินการตามข้อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของ ABET มีทั้งหมด 8 ด้าน คือ1. Students 2. Program Educational Objectives 3. Student Outcomes 4. Continuous Improvement 5. Curriculum 6. Faculty 7. Facilities และ 8. Institutional Support ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ต้องเริ่มแต่ตั้งแต่ผู้นําองค์กรที่มีความเข้าใจในเรื่องของระบบการประเมินนี้ ต่อมาเป็นหลักสูตร ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ มีภารกิจที่ชัดเจนในการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ รวมถึงการให้การสนับสนุนคณะ จากนั้นนำมาตั้งเป็น mission ของคณะ รวมถึงหลักสูตรเองก็ต้องมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและขั้นตอน

     โดย 5 หลักสูตรนำร่อง ที่ดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานของ ABET เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ดังนี้  1.การเตรียมบุคลากรโดยมีการพูดคุย อบรมทำความเข้าใจในข้อกำหนดต่างๆ ของเกณฑ์มาตรฐาน  2.มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าทุกเดือน  3.เรามีการตั้งงบประมาณในการสนับสนุน ทั้ง 5 หลักสูตร และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเกณฑ์การประเมิน คณะได้ปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้มีความทันสมัย และมีความปลอดภัย มีแผนผังด้านความปลอดภัยในอาคารชัดเจน รวมถึงอุปกรณ์ที่พร้อมและเพียงพอในห้องปฏิบัติการด้วย ซึ่งเราทำหลักสูตรมาเกือบสองปีแล้ว มี 3 หลักสูตรที่ใกล้จะถึงขั้นทําReport ได้ อีก 2 หลักสูตรอยู่ในระหว่างดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ  โดยเราต้องไปทำความเข้าใจผู้สอนหลักสูตรว่าวิชาใดจะถูกนำมาประเมิน  หลังจากนั้นต้องนำข้อสอบเก่ามาวิเคราะห์ว่า นศ.ทําได้หรือไม่ได้ แล้ววิเคราะห์ต่อไปว่าจะปรับปรุงข้อสอบ หรือวิธีการสอนอย่างไร มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรด้วย โดยจะต้องมีวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์อย่างน้อย 30 หน่วยกิต และต้องแสดงให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาในวิชานั้น ๆ ด้วย

   รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร  กล่าวต่อว่า หากการดำเนินการเป็นไปตามแผน คณะฯ จะส่งคำขอเข้ารับการตรวจประเมินพร้อมเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณาภายในเดือนตุลาคม 2567 คณะกรรมการจะใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นเดือนมกราคม 2568 คณะกรรมการจะแจ้งกลับมาว่าเนื้อหาผ่านการพิจาณาหรือไม่ หากผ่านการพิจารณา คณะจะต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และคณะกรรมการ จะเดินทางมาตรวจประเมินที่คณะในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะคอยสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนที่ปรึกษาและจัดกิจกรรมทดสอบการประเมินก่อนถึงวันที่คณะกรรมการ ABET เดินทางมาตรวจประเมินจริง

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์

     คณะฯ มีความคาดหวังและมั่นใจว่า เราจะผ่านการประเมิน และได้ขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูลของมาตรฐาน ABET ซึ่งทําให้ระบบการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรของวิศวกรรมศาสตร์นั้นเป็นมาตรฐานระดับโลกหรือมาตรฐานสากล ส่งผลต่อนักศึกษาเราที่จะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ และ นศ.ต่างประเทศ ก็สามารถเข้ามาเรียนที่ มข. เราได้ เพราะมาตรฐานเดียวกันเกิดการศึกษาข้ามพรมแดนมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการบ่งบอกถึงการที่เราเอาใจใส่ดูแลนักศึกษาของเรามากขึ้น เพราะเราเน้นตัวผู้เรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้จริง ๆ และอาจารย์เองจะต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงการเรียนการสอนให้สอดคล้องเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง หาก 5 สาขาของเราได้รับการรับรอง ก้าวต่อไปคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงทุกหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ในสาขาวิชาอื่นๆ อีกเพื่อเข้ารับการรับรองมาตรฐานทางการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในระดับโลกต่อไปในอนาคต

     ปัจจุบัน “มาตรฐาน ABET” มีการรับรองในมหาวิทยาลัย 42 ประเทศทั่วโลก 920 องค์กร 4,674 หลักสูตร  ซึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมเดินหน้าเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ABET ในการประกอบวิชาชีพระดับสากลภายในปี 2568”  ทั้งนี้ สอดคล้องกับการที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) มีแนวนโยบายมุ่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีความตั้งใจ ที่จะผลักดันทุกหลักสูตร ให้เข้ารับการประเมินรับรองมาตรฐานสากล ABET เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรให้เป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกับนานาชาติ ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล ตลอดจนสามารถโอนหน่วยกิต และเคลื่อนย้าย ไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนและนานาประเทศได้ทั่วโลก นั่นเอง

 

ข่าวบทความ  :  เบญจมาภรณ์  มามุข

ภาพ   :   เบญจมาภรณ์  มามุข / เว็บไซต์  https://www.en.kku.ac.th/web/ 

Scroll to Top