มข. ร่วมรัสเซีย จัดใหญ่ Math Festival ครั้งที่ 5 ส่งเสริมทักษะ พัฒนาการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา พร้อมด้วย สมาคมคณิตศาสตรศึกษา และมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด ร่วมกับ Moscow Center for Continuous Mathematical Education จัดกิจกรรม Mathematics Festival ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ.2566 เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Evgeny Tomikhin เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมด้วย Mr. Vladimir Kim เลขานุการโท ประจำสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เดินทางมาเยี่ยมชมการจัดกิจกรรม และกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดกิจกรรม Mathematics Festival ประเทศไทย ครั้งที่ 5 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยวัฒน์ สายพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ กล่าวทักทายในนามประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา กล่าวรายงานถึงการจัดกิจกรรม

H.E. Mr. Evgeny Tomikhin เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดีกับการจัดกิจกรรม Mathematics Festival ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยปีนี้มีผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียเข้ามาร่วมเตรียมการและร่วมจัดงาน ถือเป็นงานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาในระบบทวิภาคีระหว่างสองประเทศ เนื่องจากคณิตศาสตร์เป็นราชินีแห่งวิทยาศาสตร์ทั้งหมด เราไม่สามารถที่จะประเมินค่าความสำคัญของคณิตศาสตร์ที่มีต่อชีวิตเราได้ แต่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติและอารยธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินไปโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่เป็นกฎ พื้นฐานของธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงออกมาได้ผ่านการใช้ภาษาสากลทางคณิตศาสตร์ แม้จะมีความท้าทายในหลายๆ ด้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่วัฒนรรมการเรียนและการศึกษาคณิตศาสตร์ของประเทศรัสเซียยังคงแข็งแกร่ง เรามีประสบการณ์และความรู้ที่พร้อมจะแบ่งปันให้กับทุกคนรวมถึงเพื่อนชาวไทยของเราด้วย ผมเชื่อมั่นว่าผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียมีความพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทย ในการถ่ายทอดแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดของประเทศรัสเซีย ในการสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ ผ่านกิจกรรมที่สำคัญนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มข. กล่าวในรายงานว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในรูปแบบของ Math Festival ทำให้ตระหนักถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ Center for Continuous Mathematical Education Higher School of Economics Math Department ประเทศรัสเซีย ที่มีมากกว่า 10 ปีผ่านโครงการ APEC –Lesson Study Project   ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย และจัดต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี และ 4 ปีที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม Mathematics Festival ที่ประเทศไทยเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน เป็นผู้ดำเนินการ

 

โดยปีนี้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กิจกรรม Math Feast Olympiad โดยใช้ชุดปัญหาที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาจากประเทศรัสเซีย ให้นักเรียนได้แก้ปัญหา จำนวน 6 ปัญหา, กิจกรรมฐานเกมทางคณิตศาสตร์ จำนวน 4 ฐานเกม, การบรรยายพิเศษ โดย Assoc. Prof. Ivan Vysotskiy ในหัวข้อ From Tasks to Problems: Painting Fences and Fermat’s Little Theorem

มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คณะครู ผู้ปกครอง นักศึกษาระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และแขกผู้มีเกียรติร่วม 500 คน และตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป กิจกรรม Mathematics Festival ประเทศไทย ได้ถูกบรรจุในโครงการ Russian-Thai Roundtable (RTRT) เรื่อง ความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและการวิจัยในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ.2560 เพื่อเฉลิมฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและรัสเซีย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถติดตามกิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ ผ่านกิจกรรม Mathematics Festival ประเทศไทย ได้ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี  ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://irdtpforasean.kku.ac.th/math_festival

 

ข่าว : พีรณัฐ เอี่ยมทอง

เรียบเรียง : เบญจมาภรณ์  มามุข

 

 

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top