ปังแต่ต้นปี!! 3 ผลงาน วิทยาศาสตร์ศึกษา มข. คว้ารางวัล จากผลงานต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนพลเมืองยุคใหม่

3 ผลงานนักศึกษา ระดับปริญญาตรี และ ระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลระดับประเทศ ได้แก่ 1) ผลงานการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ที่ชื่อว่า “Water cycle physical-digital board game” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวด Show & Share โครงการสัมมนาวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนครั้งที่ 8 (SoTL8) ประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเครือข่าย 2) ผลงานประกวดหลักสูตร “Youth of Citizen Science ภายใต้ชื่อทีมใกล้บ้าน Far out คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 2 กิจกรรมประกวดการออกแบบหลักสูตรการสอนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำเชิงสร้างสรรค์ Water Curriculum Contest จัดโดย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ 3) ผลงาน “การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างธุรกิจเชิงสังคม” ภายใต้ชื่อทีม SPP Developers คว้ารางวัลระดับเหรียญเงินในกิจกรรม GPSC Young Social Innovator 2022 จัดโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งผลงานที่เข้าร่วมประกวดทั้ง 3 ผลงานมี ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา เป็นที่ปรึกษา

ผลงานการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ที่ชื่อว่า “Water cycle physical-digital board game” เป็นบอร์ดเกมที่ถูกสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับบริบทของเนื้อหาเรื่อง วัฏจักรของน้ำ โดยมีกระบวนการเล่นเกมของผู้เล่นแบบเป็นวัฏจักร อีกทั้งยังอยู่ในรูปแบบที่เป็นบอร์ดเกมผสานดิจิทัลเทคโนโลยี คือ มีบอร์ดเกมที่ออกแบบให้ผู้เล่นได้ลงมือปฏิสัมพันธ์ และมี mini game ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ได้จัดทำร่วมกับการใช้บอร์ดเกม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทั้ง 4 กระบวนการของวัฏจักรของน้ำ ได้แก่ การระเหยเป็นไอ การควบแน่น การเกิดหยาดน้ำฟ้า และการรวมตัว ซึ่งเป็นผลงานของ นางสาวศศิวิมล เปรมไธสง ปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา และครูประจำการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายนานาชาติ และ ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา

ผลงานประกวดหลักสูตร “Youth of Citizen Science” ภายใต้ชื่อทีมใกล้บ้าน Far out ประกอบด้วย น.ส.รดาศา คำเมือง นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา ชั้นปีที่ 5 และ น.ส.ทวินันท์ จันทร์อิน นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา ชั้นปีที่ 4 ซึ่งหลักสูตร Youth Citizen Science ถูกออกแบบมาให้นักเรียนเกิดการตระหนักรู้ในการดูแลทรัพยากรน้ําภายใต้แนวคิดการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะภาคพลเมือง (citizen inquiry) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับการส่งเสริมจากชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางน้ำโดยตรง นำไปสู่การอนุรักษ์และประหยัดทรัพยากรน้ําร่วมกันในพื้นที่รอบตัวนักเรียนและเป็นคลื่นสัญญาณกระจายความรู้จากสิ่งที่ค้นพบสู่สื่อมวลชน

 

ผลงาน “การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างธุรกิจเชิงสังคม”เป็นการจัดทำแอปพลิเคชั่นPlastic Detectives เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมพร้อมทั้งปลูกฝังความเป็นวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกของพลเมือง ร่วมกับกลไลการใช้เทคโนโลยีเหรียญดิจิตอลKGO Token เพื่อเป็นการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและสังคม ภายใต้ชื่อทีม SPP Developers  ประกอบด้วย นางสาวพรญาณี สอนสมนึก,นายพุฒิพงศ์ คนยง และนายศตวรรษ ยุทธไกร

 

ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า “การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีสมรรถนะในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นเป็นหน้าที่มาตรฐานของวิชาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นการนำพานักศึกษาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาต้นแบบนี้นั้นจึงเป็นพันธกิจทางวิชาชีพที่สำคัญยิ่ง โดยผลงานชิ้นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นผลงานที่นักศึกษาได้รับการบ่มเพาะและพัฒนาผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมหลักสูตร หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติจริงในสถานศึกษา และฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับผู้อื่นทั้งในเพื่อนด้วยกันและคณาจารย์ จนได้เป็นต้นร่างนวัตกรรมที่คิดออกแบบและพัฒนาขึ้นอย่างจำเพาะตามโจทย์การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของผู้เรียนยุคใหม่ โดยมีทั้งรูปแบบการเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บอร์ดเกมผสานร่วมเทคโนโลยีดิจิทัล โมบายแอปพลิเคชันเฉพาะทางการเรียนรู้ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ที่เน้นการสร้างเสริมสมรรถนะผู้เรียน เป็นต้น อันจะถูกนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของผู้เรียนยุคใหม่อีกในขั้นตอนต่อไป”

Great work as of the year’s beginning! KKU Science Education wins prizes from instructional prototypes that launch new era citizens

https://www.kku.ac.th/16003

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top