มข.ร่วมเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” หนุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพิธีเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ซึ่งจัดโดย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ภายในงาน International Energy Storage Forum 2024 – TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม MR 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานในพิธี

นอกจากนี้ ยังมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย เข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบทบาทในการพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานกลางและพร้อมเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้การสนับสนุนการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ เพื่อส่งเสริมการใช้รถที่ไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ Strom และแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนแบรนด์ UVOLT ของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ UNR 136 และ มอก.2952-2561 มีระบบ IoT ที่ติดตามการใช้งานแบตเตอรี่ เพื่อสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย

สำหรับภาคีนี้ได้เริ่มต้นจากความร่วมมือในการดำเนินการโครงการนำร่องร่วมกัน ของหน่วยงานในกระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ ภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

Scroll to Top