วิศวะ มข. และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ประชุมหารือหัวข้อโจทย์วิจัย/เทคโนโลยีทางทหารกองทัพเรือ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ พร้อมด้วยคณาจารย์นักวิจัยคณะวิศวฯ ร่วมต้อนรับ คณะผู้แทนจากกองทัพเรือ นำโดย นาวาเอก ทวี วงศ์วาน รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมและประชุมหารือทิศทางการวิจัย  โจทย์การวิจัย การรับรองมาตรฐานผลงานวิจัย การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการนำผลการวิจัยไปใช้งานหรือการเข้าสู่สายการผลิต โดยโจทย์หารือความร่วมมือทางวิชาการ ประกอบด้วย โจทย์งานวิจัย/เทคโนโลยีทางทหารกองทัพเรือ หัวข้อ อากาศยานไร้คนขับ ยานภาคพื้นไร้คนขับ ระบบเฝ้าระวัง  เสื้อเกราะกันกระสุน หมวกทหารราบกันกระสุน และเรือ/ยานปฏิบัติการทางทะเล เพื่อก่อให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ โดยผลงานและนวัตกรรมที่โดดเด่นของคณะฯ ที่ได้นำเสนอในการหารือความร่วมมือในครั้งนี้  ได้แก่ 1) แผ่นรองรับกันกระแทก โดย ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และทีมวิจัย 2) ผลงานวิจัยอากาศไร้คนขับ โดย ศ.ดร.สุจินต์ บุรีรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและทีมวิจัย และ3) ระบบยืนยันตัวบุคคล โดย รศ.ดร.กานดา สายแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์      สำหรับโจทย์งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือให้ความสนใจ ได้แก่ 1. อากาศยานไร้คนขับ ต้องประกอบด้วย การออกแบบ การผลิตโครงสร้างที่มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา รองรับการใช้งานในสภาพแวดล้อมทางทะเล ระบบการเก็บกู้ UAV (UAV = Unmanned Aerial Vehicle หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เครื่องบินไร้คนขับ , อากาศยานไร้คนขับ) ในทะเลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การสื่อสารและส่งข้อมูลระยะไกล สำหรับยานไร้คนขับในมิติต่างๆ แหล่งพลังงานสำหรับ UAV เพื่อให้สามารถมีระยะเวลาปฏิบัติงานได้นานมากกว่า 40 นาที และแหล่งกำเนิดพลังงานขณะปฏิบัติการ ระบบขับเคลื่อนประหยัดพลังงาน เงียบ และง่ายต่อการซ่อมบำรุง ระบบการนำ UAV ลงจอดในเรือขณะเคลื่อนที่  ระบบการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของ UAV การระบุตำบลที่ของ UAV เมื่อสูญเสียการควบคุม กล้องสำหรับ UAV ที่มีความคมชัดสูง สามารถใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีระบบติดตามเป้าหมายในทะเล มีระบบต่อต้าน ตรวจจับ ควบคุม และป้องกัน 2.ยานภาคพื้นไร้คนขับ สำหรับการเข้าพื้นที่ต้องสงสัย เพื่อพิสูจน์ทราบ เก็บกู้วัตถุระเบิดหรือกู้ภัย โดยต้องมีระบบควบคุมที่สามารถป้องกันการรบกวนคลื่นสัญญาณวิทยุ กรณีมีการเปิด Jammer (เครื่องรบกวนตัดสัญญาณ) สัญญาณวิทยุหรือ 3G 4G และสามารถใช้กับสายควบคุมได้ มีความสามารถปีนป่ายและเคลื่อนที่ในบริเวณโพรงหญ้าหรือป่าพรุได้ ตลอดจนกันน้ำและความชื้นสูง มีแขนกลที่สามารถทำงานในลักษณะการดึง เกี่ยว จับ หรือสามารถทำลายการทำงานของระบบจุดระเบิดได้ ปฏิบัติการได้ทั้งทางบกและทางน้ำ 3.ระบบเฝ้าระวัง ระบบต้องแจ้งเตือน ตรวจจับ พิสูจน์ทราบ การผ่านเข้า-ออกของบุคคล ระบบพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ 4.เสื้อเกราะกันกระสุน ต้องป้องกันได้ระดับ 3 (ปืน M16) ระบบการลอยตัวในน้ำของเสื้อเกราะและความคล่องตัวขณะลอยตัว ดูแลและง่ายต่อการทำความสะอาด ลดความชื้นและลดการสะสมเชื่อโรค ซ่อนพรางได้ดี 5.หมวกทหารราบกันกระสุน มีกล้องตรวจการณ์ที่สามารถส่งสัญญาณภาพและเสียง  ทวนสัญญาณ และสามารถป้องกันการรบกวนสำหรับใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการที่เป็นป่า ตึก สวนยาง และภูเขา มีน้ำหนักเบา 600-300 กรัม กันกระสุนได้ 6.เรือ/ยาน ปฏิบัติการทางทะเล ต้องมีขนาดเล็กเคลื่อนที่ได้ทั้งในป่าพรุ และในทะเลได้ มีกล้องตรวจการณ์ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถทำงานร่วมกับ UAV ได้ สามารถสื่อสาร ควบคุม แลกเปลี่ยนข้อมูลระยะไกลได้ ซึ่งโจทย์เหล่านี้คือ สิ่งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อดำเนินการสร้างสรรค์ ออกแบบ พัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เราพร้อมในการนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพด้านการการวิจัย เพื่อผลิตคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติต่อไป  ภายใต้วิสัยทัศน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นนำด้านการสอน วิจัยและพัฒนาระดับอาเซียน โดยมีเป้าหมายของวิสัยทัศน์ เป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นนำ อันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ อันดับ 1 ใน 10 ของอาเซียน รวมถึงค่านิยม ที่พร้อมอุทิศเพื่อสังคม การบริหารจัดการด้วยข้อมูลที่เป็นจริง การมุ่งเน้นนวัตกรรม เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการมุ่งเน้นผู้เรียนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นี่คือแนวคิดของเรา 

 

จารุณี/ข่าว

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปลื้มรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ TQC ประจำปี 2566 จัดกิจกรรมแสดงความยินดีและบรรยายเส้นทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต

Scroll to Top