COLA KKU ร่วมให้ข้อมูล พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำคัญ “โครงการยุวชนอาสา เฟส 1” ในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทย

COLA KKU ร่วมให้ข้อมูล พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำคัญ “โครงการยุวชนอาสา เฟส 1” ในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทย ที่จะเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน

ตามที่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น COLA KKU ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ดำเนินโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 จำนวน 14 โครงการ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะมีนักศึกษาเข้าร่วม จำนวนทั้งสิ้น 172 คน ที่ประกอบด้วย นักศึกษาจากหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการคลัง และหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตร ล้วนมีลักษณะสหสาขาวิชา สามารถนำมาร่วมเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ โดยการเรียนรู้ร่วมกันกับท้องถิ่น (อันหมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน ภาคเอกชน 21 บริษัทจากจังหวัดขอนแก่น) พร้อมมีอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละโครงการร่วมเรียนรู้กับนักศึกษา และยึดโยงกับพื้นที่อย่างใกล้ชิด) อนึ่ง การดำเนินโครงการนี้ คือ รูปธรรมหนึ่งของการ transform การศึกษา และมุ่งพัฒนาทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)  โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

โดยในวันที่13 มกราคม 2563 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดพิธีเปิดตัวแคมเปญ “ยุวชนสร้างชาติ” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการยุวชนสร้างชาติอย่างเป็นทางการ และได้ให้โอวาทแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ ทั้งนี้ในส่วนของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น นั้น ได้คัดเลือกผู้แทนนักศึกษาวิทยาลัยฯ ที่เข้าร่วมโครงการ ให้ร่วมนำเสนอโครงการ และการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ของวิทยาลัย ฯ ที่เน้นชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรม แบบปากเปล่าในพิธีเปิด คือ นส.กุลนิษฐ์ จันทราภัย นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น และกลุ่มนักศึกษา โดยการนำของ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลร่องคำ เจ้าของพื้นที่ร่วมเป็นผู้ให้ข้อมูล และเป็นเครือข่ายในการพัฒนาและร่วมสร้างปฎิรูปการศึกษากับวิทยาลัยฯ ที่ต้องนำเสนอการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรชุมชน ที่บูท ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างให้โอวาทว่า “ขอให้ใช้พลังของหนุ่มสาวให้สังคมสร้างสรรรค์เป็นสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ ตอนนี้เราเผชิญกับกับความท้าทายสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ แต่จะทำอย่างไรให้เยาวชนเดินหน้าไปได้ 5-10 ปีที่ผ่านมา หลายอย่างเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จะต้องลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวน การดิสรัปชันที่เกิดจากโลกดิจิทัล ทุกคนต้องช่วยกันทำงานเพื่อโลกของเรา รายได้ของเกษตรกรมีกติกาทั้งสิ้น รายได้ของประชากรจะต้องขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สตาร์ทอัพ และเทคโนโลยี ช่วยให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง เรามียุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศ 6 ด้าน แต่สิ่งสำคัญคือการศึกษา และวิธีการคิดที่มีกระบวนการ ต้องไม่มองระยะสั้น ต้องมองระยะยาว ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะไม่มีอะไรได้มาฟรี เหล่านี้จะช่วยประเทศไทยเดินหน้า ท่ามกลางประเทศที่กำลังอ่อนไหวอยู่ในขณะนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม หากใช้แนวทางการดำเนินการแบบเดิมๆ บางอย่างมันดี แต่ทำไม่ได้ เพราะติดล็อกกฎหมาย และกฎหมายนั้นไม่แก้ไม่ง่าย แต่ต้องหาวิธีการมาอำนวยความสะดวก ช่วยศึกษาเรื่องเหล่านี้ไปด้วย เรื่องความโปร่งใสก็อีกเรื่อง ถ้าไม่มีกฎหมาย ไม่รู้กัน บ้านเมืองก็สับสนอลหม่านกันไปหมด ต้องเติมไปด้วยทั้งกฎหมายเพื่อประชาชน กฎหมายที่ต้องรู้ ส่วนสิ่งไหนที่รัฐบาลทำไปแล้ว เรื่องใหม่ๆ ในสมัยนี้ ขอให้สนใจในเรื่องสิ่งเหล่านี้ ฝากให้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือเป็นกำลังของอนาคต อยากให้ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ เพราะหลายคนอาจเข้ามาเป็นนายกฯ ส.ส. และรัฐมนตรี แทนคนรุ่นเก่า

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทั้งนิสิตและนักศึกษาที่มีพลังขับเคลื่อนมหาศาลจะเป็นพลังให้เดินไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ที่อ่อนไหวแบบนี้ จึงขอให้รวมพลัง สร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ประเทศต้องการ อีกทั้ง มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะวันนี้เป็นศตวรรษที่ 21 ไม่มีอะไรเหมือนเดิม ถ้าทำแบบเดิมก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ จึงขอให้ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อน พร้อมขอให้เรียนรู้ระบอบ ระบบ การทำงานของรัฐบาลและเอกชนด้วยว่าเป็นอย่างไร มีวิธีทำงานอย่างไร รวมทั้งศึกษากฎหมาย ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะไปไม่ได้ ซึ่งบางอย่างดีแต่ติดกฎหมาย เราแก้ กฎหมายไม่ได้ดังนั้นทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นประโยชน์ ฝากทุกคนเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย วันนี้เรื่องกฎหมายต่างๆ เชื่อว่าดีและครอบคลุมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการใช้จ่ายงบประมาณ และระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทุกอย่างมีอยู่แล้ว ต้องเรียนรู้ตรงนี้ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองสับสนอลม่านไปหมด ซึ่งจะปฏิเสธว่าเราไม่รู้กฎหมายไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้หมดแล้ว บางคนไม่รู้จริงๆ และต้องรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปแล้ว หลายอย่างทำมาใหม่สมัยนี้ทั้งนั้นทำ เพื่อพวกเราทั้งสิ้นถ้าไม่สนใจไปสนใจเรื่องอื่นก็ไม่เกิดประโยชน์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอฝากภาคเอกชน นำนักศึกษาไปฝึกงานในบริษัทด้วย โดยจะต้องมีการปรับปรุงมีมาตรการ ฝึกงาน ให้ได้รับประโยชน์กับไป ไม่ใช่มาแล้วไม่ได้อะไรกลับ หลังฝึกงานจะต้องมีงานที่บ้าน เข้าใจในระบบราชการ อีกทั้ง นักศึกษาเหล่านี้จะได้นำเรื่องเหล่านี้ไปเล่าสู่ในสถาบันว่ารัฐบาลมีนโนบายแบบนี้ ไม่ใช่มาแล้วมาฝึกงานแล้วเป็นสัพเพเหระ แล้วไม่ได้อะไรกลับไป

“ผมทำงานตั้งแต่เช้า ยังไม่รู้สึกง่วง ทำไมส.ส.ที่นั่งอยู่ง่วงแล้ว ก็ไม่ว่ากัน เพราะพวกท่านทำงานพบปะประชาชน เยี่ยมเยือน แต่อย่างไรก็ขอให้ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม อะไรต่างๆ ก็ตาม หรือคนที่ไหนก็ตาม ทุกคนหวังดีต่อประเทศชาติทั้งสิ้น ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครเลย ใครจะเชียร์ จะไล่ จะอะไร ผมไม่ใช่ศัตรูพวกท่าน แต่ทุกคนจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้มากนัก แต่ก็เคารพความคิดของทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในโครงการยุวชนสร้างชาติ เดี๋ยวจะมีการจัดงานภายนอก โดยนำนักศึกษาไปร่วมกับภาคเอกชน เปิดเวทีให้คนข้างนอกเห็นว่าเรากำลังทำอะไร เอาหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกัน พูดให้สังคมรู้ว่าเรากำลังทำอะไร ซึ่งจะได้ประโยชน์กว่าอย่างอื่น และจะได้รับการยอมรับว่าวันนี้ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว เป็นการขับเคลื่อนทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นเก่าเราทิ้งไม่ได้ ไม่งั้นจะแบ่งแยกกันอยู่อย่างนี้ คนรวย คนปานกลาง คนจน กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องรวมพลังกันกันได้แล้ว อะไรที่ขัดข้องหมองใจต้องคุยกัน ทุกอย่างต้องแก้ปัญหาแบบนี้ ในต่างประเทศเขาก็แก้ปัญหากันแบบนี้ รบราฆ่าฟันกันยิ่งกว่านี้ เราต้องการจะกลับไปแบบนั้นกันอีกหรือ อย่าเลย เอาความตั้งใจมาร่วมมือกันคิดกันทำจะดีกว่า วันนี้อยากให้สร้างเครือข่ายให้มากที่สุด ใครไม่มาไม่เป็นไร แต่วันหน้าเขาอาจจะเข้าใจและมาร่วมมือ ตนวาดหวังอย่างนั้น ไม่อยากจะให้มีความขัดแย้งกันใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเวลานี้ โลกกำลังมีปัญหาหลายประการ เราไม่ควรจะมีปัญหาภายในของเรา เพื่อจะใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้เป็นโอกาสของพวกเรา เราต้องเอาวิกฤตเหล่านั้นมาอยู่ที่เราในการสร้างโอกาส

ด้าน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา ได้เริ่มดำเนินการโครงงานแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา โดยประเด็นการพัฒนา คลอบคลุม 4 ด้านได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้ความสามารถที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ภายใต้แนวคิด “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้กำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 7 และสัดส่วนคนจนลดลงร้อยละ 2.5 ต่อปี

จากนั้น ได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสา ระหว่างสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัยภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีอว. และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยภาครัฐ หนึ่งในนั้น คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ให้เกียรติลงนามในโครงการสำคัญ ในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทย ที่จะเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่ อีกด้วย อนึ่งในการเดินทางเข้า กทม.โดยรถไฟ ครั้งนี้ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. ได้ให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้ระบบรางของเมืองไทย เตรียมรับกับทิศทางพัฒนาเมือง “ขอนแก่นโมเดล” ด้วย พร้อมมี รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดี และทีมผู้บริหาร ให้การดูแล และสนับสนุนองค์ความรู้ตลอดการเดินทาง

 

 

 

ภาพ/ข่าว:ภาภรณ์ เรืองวิชา

Scroll to Top