ตลาดนัดกับเศรษฐกิจชุมชน

สำนักข่าว : siamrath

URL : https://siamrath.co.th/n/229682

วันที่เผยแพร่ : 24 มีนาคม 2564

ตลาดนัด ที่นัดพบของชุมชน คนขายคนซื้อ ผู้ผลิตผู้บริโภค ที่คนไทยไม่ว่าระดับไหนก็น่าจะเคยไปเดินมาแล้ว แม้บางคนถือว่าเป็น “ตลาดล่าง” แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนไทยวันนี้ที่เศรษฐกิจย่ำแย่

ผักบ้านที่หาไม่ได้ในห้าง คุณยายขายแบกะดินกำละ 10 บาท ของกินของใช้ราคา “ชาวบ้านกันเอง” ข้าวต้มขนมโบราณที่เริ่มกลับมา เพราะสถานการณ์ยากลำบากสร้างแม่ค้าพ่อค้าและนวัตกรรม

ตลาดนัดมีศักยภาพสูงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน โดยค้นเอาสิ่งที่ห้างหรือตลาดเทศบาลทางการไม่มีออกมาขาย นับเป็นจุดได้เปรียบของชุมชน (comparative advantage) อย่างการเน้นนำผลิตภัณฑ์โอทอป นำผัก ผลไม้ อาหารพื้นบ้านอินทรีย์มาขาย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่มีแผน 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยน่าช่วยได้มาก

หนึ่ง ช่วยเป็นหลักประกันว่า “อินทรีย์จริง” โดยมีกลไกการประเมิน การตรวจสอบ และการมอบเครื่องหมายใบประกาศ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ เพราะที่ชาวบ้านบอกเองว่าอินทรีย์ คนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจ

สอง ช่วยกระบวนการผลิต การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอย่างมีเป้าหมาย เช่น ทำนาอย่างไรให้ได้ 1 ตันต่อไร่โดยไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงโรคราต่างๆ การปลูกผัก ผลไม้ การนำมาแปรรูป จัดหีบห่อ

 

หลายปีก่อน นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปช่วยวิจัยการแปรรูปข้าวที่เกษตรวิสัย ร้อยเอ็ดและที่บึงกาฬ เราจึงได้เห็นข้าวเม่าขายทั้งปีทั้งตามห้างและทั่วไป มีทั้งแห้งและพร้อมรับประทาน มีทั้งผสมธัญพืชบรรจุถุงเหมือนซีรีลอาหารเช้าฝรั่ง

นับเป็นบทบาทของนักวิจัยที่ชาวบ้านยังซาบซึ้งจนถึงทุกวันนี้ เพราะตอนเริ่มต้นคนไม่มั่นใจ อาจารย์ นักศึกษาพาชาวบ้านไปขายในงานต่างๆ ช่วยขายช่วยโฆษณาจนติดตลาดไปในที่สุด

ความจริง นักศึกษาเองนั่นแหละที่ได้เรียนรู้ไม่น้อยไปกว่าชาวบ้าน เรียนจบแล้วก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เพราะได้เรียนมาจากการลงมือทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขาย

อีกทางหนึ่งที่สถาบันอุดมศึกษาจะทำได้ง่าย คือ การร่วมมือกับภาคีพันธมิตร ซึ่งมีมากมายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ไม่ได้มีแต่บริษัทต่างๆ ที่ทำ CSR หรือมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยอยู่บ้างแล้ว อย่างโครงการส่งเสริมสุขภาพของคุณหมอบุญชัย อิศราพิสิษฐ์ที่ต้องการ “เปลี่ยนอาหารให้เป็นยา เปลี่ยนคนไทยทั่วหล้าให้สุขภาพดี” ของมูลนิธิเวลเนสแคร์ฯ

โครงการนี้เริ่มจากนายแพทย์บุญชัยเองที่เคยป่วยด้วยโรคร้ายหลายโรค ฟื้นฟูดูแลตนเองด้วยการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะอาหาร ท่านจึงมีเป้าหมายในการจัดสร้างสวนผักอินทรีย์ที่วัด โรงเรียน ชุมชนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การกินอาหารที่ดีและปลอดภัย

คุณหมอบุญชัยบอกว่า อยากให้วัดเป็นที่รวมของคนสุขภาพดี ทั้งพระทั้งชาวบ้านที่ไปวัด นอกจากได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ยังได้เรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ได้ทำบุญได้ผักดีๆ ไปรับประทาน หรือหลายคนก็กลายเป็นจิตอาสา ไปช่วยปลูกผักในวัด ขณะนี้ได้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศแล้ว

ถ้ามหาวิทยาลัยไปร่วมมือกับคุณหมอบุญชัย ร่วมมือกับวัด กับโรงเรียน กับชุมชน งานนี้คงไปได้เร็วมากยิ่งขึ้น คงไม่ถึงกับ 10 ปีที่คุณหมอตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้อัตราการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อทั้งหลายลดลง อย่างโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน เส้นเลือดตีบตัน ไขมันสูง

ความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษากับวัดอาจเป็นการช่วยจัดตลาดนัดที่ส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ใครๆ ที่ไปตลาดนัดที่วัดทุกวันพระได้รู้ว่า ไป “นัดสุขภาพ” เป็นนัดที่มีอาหารอินทรีย์ที่เชื่อถือได้ มีการส่งเสริมข้อมูลการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง คุณค่าโภชนาการของพืชผักและอาหารต่างๆ การสอนวิธีนวดด้วยตนเอง หรือมีที่บริการนวด และสาธิตการออกกำลังกายง่ายๆ

 

อยากเรียนท่านรัฐมนตรีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ว่า โครงการนี้น่าจะผลงานที่ท่านควรทิ้งไว้ให้กระทรวงอว.และสังคมไทย เพราะท่านจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจ “นอกระบบ” (informal sector) ที่มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 30 ในเศรษฐกิจไทย และมีประชาชนคนไทยกว่าครึ่งที่เกี่ยวข้อง

ท่านคงจำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลทักษิณเคยส่งเสริมเรื่องนี้โดยนำนาย Hernando de Soto มาให้คำปรึกษา เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังสือ “ความเร้นลับของทุน” (The Mystery of Capital) และเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลหลายประเทศ ทำให้เกิดโครงการ “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน”

ผมเชื่อว่าดร.เอนกคงไม่ถึงกับเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง คงส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมาร์กซิสท์สายเข้มเคยบอกว่า เศรษฐกิจชุมชนคือเศรษฐกิจที่รอวันตาย ขณะที่ทุนนิยมไม่ได้ประกาศชัดเจน แต่ “ทำชัดเจน” ด้วยการทำลายเศรษฐกิจชุมชน แปลงชุมชนเป็นโรงงาน ชาวบ้านเป็นแรงงาน ปลูกแต่พืชเดี่ยว เลิกทำกิน รับจ้างหาเงินเพื่อไปซื้ออยู่ซื้อกิน ถึงได้จนและเป็นหนี้กันถ้วนหน้า

แทนที่จะมีแต่ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ทำไมไม่ทำ 1 ตำบล 1 วัด 1 ตลาดนัดสุขภาพชุมชน ทำให้วัดเป็น “โรงเรียนชีวิต” ส่งเสริมให้คนปลูกผักอินทรีย์ ทำอาหารดีๆ ขนมพื้นบ้านอร่อย ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรม นำมาแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เรามีดิน มีน้ำ มีแดด มีสติปัญญาและแรงกาย ถ้ามีคนไปช่วยกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสและช่องทางให้กว้างขึ้น ชาวบ้านจำนวนมากจะลุกขึ้นมาใช้สินทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็น “ทุน” สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นรากฐานสำคัญให้เศรษฐกิจประเทศ และก่อให้เกิดสุขภาพดีถ้วนหน้าในเวลาเดียวกัน

Scroll to Top