________เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายเควิน เฉิง (Mr. Kevin Cheng) ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บจก. เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และผู้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ประกอบด้วย รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คุณวรวิทย์ จำปาไชยศรี รองประธานอาวุโส ฝ่ายอุตสาหกรรมการศึกษาและการแพทย์ กลุ่มธุรกิจเอนเตอรไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
________รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา กล่าวว่า “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี
(ประเทศไทย) จํากัด เกิดขึ้นจาก วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความต้องการในการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน ให้เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ โดยให้บัณฑิตมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว รวมถึงทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยซึ่งมียุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนทุกด้าน ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ Education Transformation ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ปรับเปลี่ยนจาก teaching เป็น learning paradigm รวมถึง การจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพและในอนาคตที่สำคัญ มีการส่งเสริมทักษะไม่ว่าจะเป็นการ up-skill , re-skill หรือ new-skill แก่บุคคลทุกช่วงวัย ซึ่งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ร่วมจัดกิจกรรมในการจัดการเรียนการสอนในโครงการ Huawei ICT Academy โดยในระยะแรกวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ส่งคณาจารย์เข้าร่วมอบรมและสอบใบประกาศนียบัตร Huawei HCIA ในหลายหลักสูตรเช่น Datacom, Routing & Switching, Wireless LAN, Security และ Cloud Service นอกจากนั้น นักศึกษาของวิทยาลัยยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Seeds for the Future ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่การเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีการนำเสนอแนวคิด ในการนำเอาเทคโนโลยีด้าน Computing เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆของสังคม ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันระดับโลก Tech4Good ซึ่งในปี 2021 นักศึกษาวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็น 1 ในผู้ร่วมทีมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ระดับ Gold award มาได้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวทั้งการพัฒนานักศึกษา บุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และกิจกรรมอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ได้นำมาสู่การจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโดยมี ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี นับจากวันที่ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ”
________รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล “มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก” เป็นองค์กรทางด้านการศึกษา มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศ สำหรับความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ เพิ่อการจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อมุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพและทักษะในอนาคตที่สำคัญ ผ่านการ Upskill, Reskill หรือ New-skill แก่บุคคลทุกช่วงวัย โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล หรือ Computing ถือว่าเป็นแนวโน้มของโลก (Global Mega Trend) และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยของแก่นเอง ได้ตระหนักและเท่าทันกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ด้านปัญญาประดิษฐ์(AI), ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและประมวลผล Cloud Computing, Blockchain, Defi, NFT, โลกเสมือน Metaverse นอกจากนั้น ยังมี การบูรณาการศาสตร์ Computing เพื่อประยุกต์ในการสร้างความเป็น Intelligence ให้กับศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปะ และต่างๆได้อีกมาก และโอกาสของการเกิดทักษะอาชีพใหม่ ๆ ในอนาคต”
________รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวต่อไปว่า “จากการประสานความร่วมมือระหว่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาได้สักระยะหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ได้เกิดความร่วมมือพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น (1) ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี Huawei (2) กิจกรรมในการ Train the trainer โดยคณาจารย์เข้าร่วมอบรมและสอบใบประกาศนียบัตร Huawei HCIA ในหลายหลักสูตร (3) การพัฒนาและการสร้างนักศึกษาพันธ์ใหม่ในอนาคต (Seeds for the Future) ที่สามารถตอบโจทย์ของโลกอนาคต และกิจกรรมอื่นอีกมากที่จะเป็นประโยชน์กับประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงสังคมและเศรษฐกิจของอีสานยุคใหม่ ตลอดจนมีการขยายตัวคุณค่าของเทคโนโลยี Huawei ให้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงนำมาสู่การจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี นับจากวันที่ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ”
________รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวเว่ยมีฝึกอบรมในประเทศไทย โดยที่ ความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย หัวเว่ยได้มอบอุปกรณ์สำคัญให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ใช้ในการฝึกอบรม โดยจะมีหลักสูตรฝึกอบรมร่วมกัน โดยที่นักศึกษา หรือบุคลากรเมื่อเข้ารับการอบรมแล้ว และผ่านการทดสอบจะได้ประกาศนียบัตร หรือ Certificate ซึ่งจะมีคุณค่าในการใช้ประกอบการสมัครงาน และหางานทำ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับความเชื่อถือว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีคุณภาพ และศักยภาพสามารถทำงานให้กับองค์กรต่างๆได้ นับเป็นเรื่องที่ดีที่เรามีความร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยในวันนี้ ในอนาคตคงจะมีโครงการความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้นต่อไป”
________นายเควิน เฉิง (Mr. Kevin Cheng) กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงานกับทุกท่านในการลงนามบันทึกข้อตกลงการร่วมมือ (MoU) อย่างเป็นทางการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหัวเว่ยครั้งนี้ ขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่จัดกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ขึ้น หัวเว่ยรู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสในครั้งนี้และหวังว่าเราจะเติบโตไปพร้อมกัน การลงนามบันทึกข้อตกลงการร่วมมือ (MOU) นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการเปลี่ยนแปลงตนเองในยุคดิจิทัลใหม่ โดยวางตำแหน่งเทคโนโลยีให้เป็นแกนนำสำหรับการพัฒนารูปแบบการสอนและการเรียนรู้ระยะยาว ด้วยประสบการณ์หลายปีในอุตสาหกรรมไอซีที หัวเว่ยได้มีส่วนร่วมอย่างมากทั้งในด้านเทคโนโลยีพื้นฐานและมาตรฐานการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถ”
________“หัวเว่ยทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัย และสถาบันอื่น ๆ อย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างระบบนิเวศผู้มีความสามารถที่แข็งแกร่ง และมีพัฒนาการรับรองผู้มีความสามารถใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างพันธมิตรกับผู้มีความสามารถ ยกระดับขีดจำกัดด้านความสามารถ และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้ที่มีความสามารถ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางดิจิทัลในสังคม เพื่อจัดการกับความท้าทายของอุปสงค์และอุปทานของผู้มีความสามารถ ด้วยวิธีเหล่านี้ หัวเว่ยทำงานเพื่อสนับสนุนความสำเร็จของอุตสาหกรรม ICT และสร้างมูลค่าทางสังคมในวงกว้าง Huawei ICT Academy เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและองค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้ร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,600 แห่งเพื่อก่อตั้งสถาบัน Huawei ICT เผยแพร่ความรู้ด้าน ICT ที่ล้ำสมัยในวงกว้าง และในความหมายที่กว้างกว่านั้น ภารกิจของหัวเว่ยมีมาอย่างยาวนาน ในการเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตของทุกคนผ่านการสื่อสาร การทำงานเพื่อนำดิจิทัลให้เข้าถึงทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ ในการร่วมมือครั้งใหม่นี้ หัวเว่ยจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยนวัตกรรมล่าสุดด้าน ICT ส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาได้รับการรับรองจากหัวเว่ย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้างอย่างแน่นอน โดยจะทำให้ประชากรมีความสามารถระดับสูง เพื่อใช้โอกาสและจัดการกับความท้าทายของการพัฒนา ICT ใหม่ ๆ เชื่อมั่นว่าการลงนาม MOU ในวันนี้จะเพิ่มมูลค่าอย่างมหาศาลและสร้างระบบนิเวศผู้มีความสามารถที่แข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม ICT ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย”
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู