ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มข. จัดการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครั้งที่ 3/2565 หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 3 องค์ประกอบที่ 4 และองค์ประกอบที่ 5

เมื่อวันที่ 10 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครั้งที่ 3/2565 หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 3 องค์ประกอบที่ 4 และองค์ประกอบที่ 5  ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และรูปแบบ Onsite ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 7 อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ที่เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 95 คน

โดยมี ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการอบรม ดังนี้

มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะปฏิบัติงานวิทยาการ ดำเนินงานสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพรวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ปกปักทรัพยากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังสนองพระราชดำริ  ในภารกิจที่สำคัญ คือ การเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ 5 มหาวิทยาลัย จาก 70 มหาวิทยาลัยที่สนองพระราชดำริ เป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการ อพ.สธ. และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัย ที่รับผิดชอบพื้นที่ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนโดยการสมัครสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมายตามหลักสูตร อพ.สธ. และหลักสูตรสนับสนุนงานสนองพระราชดำริ  ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาค

วันแรกของการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ครั้งที่ 3/2565 หลักสูตรการบริหารและการจัดการ องค์ประกอบที่ 3 องค์ประกอบที่ 4 และองค์ประกอบที่ 5  ประกอบไปด้วยการบรรยายโดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้

การบรรยาย  แนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) โดย  นายธานินทร์ สันคะนุช ตำแหน่ง  เจ้าหน้าที่งานในพระองค์  ระดับ 5 (อพ.สธ.)

การบรรยาย องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ ได้แก่หัวข้อ การศึกษาพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการศึกษาพรรณไม้ที่สนใจ (พืชศึกษา) โดย นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบรรยาย  องค์ประกอบที่ 4 การรายงานผลการเรียนรู้ ได้แก่หัวข้อ รวบรวมผลการเรียนรู้,  คัดแยกสาระสำคัญ และจัดให้เป็นหมวดหมู่,  สรุปและเรียบเรียง,  เรียนรู้รูปแบบการเขียนรายงาน ทั้งแบบวิชาการ และแบบบูรณาการ  โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นางสาวพิมพ์พิศา กุลนินวอแพง ศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ.-มข. และ นางสาวณันช์ธิชา จำใบ ศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ.-มข.

การบรรยาย  องค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ในหัวข้อ การนำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนบูรณาการสู่การเรียนการสอน โดย นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น

ในช่วงบ่ายของการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตรการบริหารและการจัดการ เป็นการฝึกปฏิบัติการ องค์ประกอบที่ 3 องค์ประกอบที่ 4 และองค์ประกอบที่ 5  ดังนี้

การฝึกปฏิบัติการ  องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ หัวข้อ ศึกษาพรรณไม้ที่สนใจ และทบทวนแบบศึกษาพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน (ก.7-003)  โดย  นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การฝึกปฏิบัติการ  องค์ประกอบที่ 4 การรายงานผลการเรียนรู้ ในการรวบรวมผลการเรียนรู้ คัดแยกสาระสำคัญ และจัดให้เป็นหมวดหมู่ สรุปและเรียบเรียง โดย ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การฝึกปฏิบัติการ  องค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา โดยการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดย นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น

          และการบรรยายสรุป  องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ องค์ประกอบที่ 4 การรายงานผลการเรียนรู้และองค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา โดย  นายธานินทร์ สันคะนุช ตำแหน่งเจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 5 (อพ.สธ.)

          วันที่ 2 ของการประชุมกลุ่มสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประกอบไปด้วย

การบรรยายและนำเสนอผลการเรียนรู้  องค์ประกอบที่ 3 การศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ โดย  นายทองอินทร์ คำมี นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบรรยายและนำเสนอผลการเรียนรู้  องค์ประกอบที่ 4 การรายงานผลการเรียนรู้ โดย  ดร.หิรัญ แสวงแก้ว นักวิจัยชำนาญการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบรรยายและนำเสนอผลการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 5 การนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา โดย  นางขนิษฐา โสธรรมมงคล รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น

และบรรยายสรุปผลการเรียนรู้ โดย นายธานินทร์ สันคะนุช ตำแหน่งเจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 5 (อพ.สธ.)

ทั้งนี้ คณะวิทยากร ได้ให้คำแนะนำหลังจากการนำเสนอผลการเรียนรู้ ดังนี้

– การวิเคราะห์หลักสูตร จะต้องมีความแม่นยำในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ทั้ง 5 องค์ประกอบ  จำเป็นต้องมีความรู้แต่ละเรื่อง อาจจัดเป็นตอนๆ หรือเนื้อหาทั้งหมด เพื่อนำไปสู่แผนการจัดการเรียนรู้

– ใบงาน  3.2 พืชศึกษา มีการปรับใช้ใบงานสามารถให้นักเรียนบันทึกได้หลายรูปแบบ  ส่วนภาพพรรณไม้ควรชี้ตำแหน่งข้อมูลส่วนประกอบต่างๆ เช่น ราก ใบ ดอก ผล  นอกจากนี้ เอกสาร ก.7 – 003  ภาพวาดหน้าปกจะต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับข้อมูลภายในเล่มที่จะต้องตรงกัน  พร้อมมาตราส่วนที่ถูกต้อง

– การเขียนความเรียงเพื่อสรุปข้อมูล  ย่อหน้าที่ 1  เป็นการนำข้อมูล จากแบบศึกษาพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หน้าที่ 2 -7 มาเขียน และในย่อหน้าที่ 2 เป็นการนำข้อมูลจากหน้าแรกนำมาเขียน

– การบันทึกข้อมูล ใบงานที่ 6 เรียนรู้วิธีการรายงานผล จะต้องระบุขั้นตอน และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ให้ครบถ้วน

– องค์ประกอบที่ 3 การสอนให้นักเรียนรู้จักการวิเคราะห์ รู้จักความแตกต่างในสิ่งที่เรียนรู้ และรู้ความหลายหลาก นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

และองค์ประกอบที่ 4 ฝึกการสรุป การจัดกลุ่มเนื้อหา และสื่อ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่

จากนั้นเป็นการกล่าวปิด และมอบเกียรติบัตร โดย ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน  ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top