นศ.ใหม่สักการะพระธาตุพนม ถือตนเป็น “ข้าโอกาส ลูกพระธาตุพนม”

________องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย นายมงคล คำคนซื่อ เป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น  และฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์  โดย รศ.เพียรศักดิ์  ภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์  ได้จัดกิจกรรมนักศึกษาใหม่สักการะพระธาตุพนม “คะนิงฮอยศรัทธาอุรังคธาตุ ยัวระยาดอภิวาทพระธาตุเจ้า” ประจำปีการศึกษา 2564  ระหว่างวันที่ 22 – 23 มกราคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  โดยมีคณะดำเนินการ และนักศึกษาร่วมกันทำต้นดอกผึ้ง ขันหมากเบ็งเป็นเครื่องบูชาพระธาตุพนม  และมีผู้ร่วมกิจกรรมวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม  ประกอบด้วยนักศึกษา คณะผู้บริหาร และบุคลากร จำนวน 160 คน ซึ่งปฏิบัติตามมาตรการควบคุมไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของจังหวัดนครพนมอย่างเคร่งครัด

________วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:00 น.  ได้มีพิธีเปิดโครงการ นักศึกษาใหม่สักการะพระธาตุพนม “คะนิงฮอยศรัทธาอุรังคธาตุยัวระยาดอภิวาทพระธาตุเจ้า ขึ้น โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานพิธี  นายมงคล คำคนซื่อ  นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานต่อประธาน ผู้เข้าร่วมพิธี ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร และนักศึกษา จำนวนมาก โดยเมื่อวีดิทัศน์ MorDinDaeng’s untold stories : “พระธาตุพนม” ศูนย์รวมศรัทธา ได้จบลง ได้มีการเคลื่อนขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะพระธาตุพนม  จากนั้น ประธานได้ประกอบพิธีสักการะพระธาตุพนม จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยดอกไม้ ถวายพวงมาลัย และจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระธาตุพนม  ผู้ร่วมในพิธีสวดมนต์สรรเสริญบูชาพระรัตนตรัย  และกล่าวคำนมัสการพระธาตุพนม  จากนั้นนักศึกษาใหม่กล่าวคำมอบตัวเป็นลูกพระธาตุพนม หลังพิธีการเสร็จสิ้น ได้มีการแสดงสมโภชพระธาตุพนมองค์จำลอง และฉลองต้นผ้าป่าสามัคคี

นายมงคล คำคนซื่อ  นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

________นายมงคล   คำคนซื่อ กล่าวรายงานว่า “โครงการ นักศึกษาใหม่สักการะพระธาตุพนม “คะนิงฮอยศรัทธาอุรังคธาตุ ยัวระยาดอภิวาทพระธาตุเจ้า” ประจำปีการศึกษา 2564  เนื่องจากพระธาตุพนมถือเป็น ปูชนียสถานที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  และเป็นศูนย์รวมศรัทธา ที่เคารพสักการะ  ของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งลุ่มน้ำโขงมายาวนาน เมื่อครั้งจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ  ได้แจ้งความประสงค์ไปยังพระยาอนุมานราชธน ท่านได้ให้แนวคิดว่า “พระธาตุพนมเป็นสิ่งที่พี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับถือ รวมไปถึงชาวลาวด้วย เมื่อจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ควรใช้ตราเป็นองค์พระธาตุพนม”  การใช้องค์พระธาตุพนมเป็นตราประจำสถาบัน  ยังให้อีกความหมายอันลึกซึ้งว่า “พระธาตุพนมเป็นมิ่งขวัญสิริมงคล  อันเป็นที่เคารพบูชาของลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน ที่จะต้องเป็นศูนย์รวมความคิด สติปัญญาของสังคม  และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ด้วยความเกี่ยวเนื่องต่อองค์พระธาตุพนม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น  จึงถือตนเป็น “ข้าโอกาส ลูกพระธาตุพนม” นำมาซึ่งความปีติสุข  แก่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาคุ้มครองให้ชุ่มเย็น   และเพื่อให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสืบสาน ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเพื่อให้นักศึกษาเกิดความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยขอนแก่น”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

________รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในพิธีเปิดว่า  “ขอแสดงความชื่นชมกับการเอาใจใส่ในการดำเนินงานและกิจกรรมขององค์การนักศึกษาที่จัดขึ้นให้กับนักศึกษาใหม่และนักศึกษาปัจจุบันทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบทอด วิถีวัฒนธรรม ที่เป็นประเพณีและเอกลักษณ์อันโดดเด่นของประชาคมชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้ เพื่อแสดงให้นักศึกษาได้เห็นความสำคัญขององค์พระธาตุพนม ปูชนียสถานสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นประธานตราสัญลักษณ์มิ่งมงคลประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งให้นักศึกษาเกิดความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ขอบพระคุณ พระเทพวรมุนี  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ที่ได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดกิจกรรมขึ้น”

________ในวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยนักศึกษา และคณะทำงาน ได้เดินทางถึงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย รศ.เพียรศักดิ์  ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ  ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาค  งามผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ  ผศ.ณัฐพัชญ์  อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา  ผศ.ดร.อารยา  เชาว์เรืองฤทธิ์  คณบดีคณะเทคโนโลยี  อ.ดร.ลัดดาวัลย์  สีพาชัย  ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม   และนางสาวสุนิภา ไสวเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี   พิธีการได้เริ่มเมื่อเวลา 13.00 น. โดยได้ตั้งขบวนแห่เครื่องสักการะพระธาตุพนม และต้นผ้าป่าสามัคคี บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานประกอบพิธีสักการะและห่มผ้าถวายพระธาตุพนม  ในโอกาสนี้ ได้ถวายต้นผ้าป่าสามัคคี เป็นจำนวนเงิน 150,999.50 บาท  เสร็จพิธี นักศึกษาร่วมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และเดินทางกลับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสวัสดิภาพ

________พระธาตุพนม” เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของภาคอีสาน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นศูนย์รวมศรัทธาที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งลุ่มน้ำโขงมายาวนาน ต่อมาเมื่อครั้งจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์พิมล กลกิจได้แจ้งความประสงค์ไปยังพระยาอนุมานราชธนท่านได้ให้แนวคิดว่า “พระธาตุพนมเป็นสิ่งที่พี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับถือ โดยรวมไปถึงชาวลาวด้วย เมื่อจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ควรใช้ตราเป็นองค์พระธาตุพนม” ท่านจึงเดินทางไปพร้อมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์เข้มแข็ง สีตะธนี และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นรุ่นที่ 1-3 เพื่อขออนุญาตใช้องค์พระธาตุพนมเป็นตราประจำสถาบันจากพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร โดยได้ทำพิธีต่อหน้าองค์พระธาตุพนม

________การนำองค์พระธาตุพนมเป็นตราประจำสถาบันยังให้อีกความหมายอันลึกซึ้งว่า “พระธาตุพนมเป็น เป็นมิ่งขวัญสิริมงคลอันเป็นที่เคารพบูชาของลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน ที่จะต้องเป็นศูนย์รวมความคิด สติปัญญาของสังคมและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ด้วยความเกี่ยวเนื่องต่อองค์พระธาตุพนม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงถือตนเป็น “ข้าโอกาส ลูกพระธาตุพนม” นำมาซึ่งความปิติสุขแก่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีสิ่งศักดิ์ปกปักรักษาคุ้มครองให้ชุ่มเย็น

________กิจกรรมนักศึกษาใหม่สักการะพระธาตุพนม “คะนิงฮอยศรัทธาอุรังคธาตุ ยัวระยาดอภิวาทพระธาตุเจ้า” มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือนโยบาย (Organization Alignment) ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา และพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในอนาคต ด้านการพัฒนาจิตใจ หมายถึง กิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษามีจิตสำนึกที่ดีและทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นกิจกรรมอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย พร้อมกับพัฒนาทักษะการตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) ทักษะความเป็นผู้นำและการประสานความร่วมมือ (Leadership and Collaboration)  และทักษะคุณธรรม (Compassion, Persistence/Grit)

ข่าว   :   วัชรา   น้อยชมภู
ภาพ  :    องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top