ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มข. จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปีที่ 2”

        วันอังคารที่ 18 มกราคม 2565 ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หัวข้อ “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปีที่ 2” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้กล่าวรายงานาจัดกิจกรรม โดยมีบุคลากรและหน่วยงานจากสถานศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ เข้าร่วมอบรมกว่า 450 คน ณ ห้อง Studio สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 7 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
      ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงาน ดังนี้
      การประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ” ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานสนองพระราชดำริ สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง อพ.สธ. และผลักดันการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จ โดยเป็นการอบรมให้ครูในโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และบุคลากรจากหน่วยงานราชการที่ดำเนินโครงการสนองพระราชดำริฯ ให้เห็นความสำคัญของการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง อพ.สธ. ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การบรรยายความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทาง การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ”
การประชุมเสวนาในครั้งนี้ มีหน่วยงานทางการศึกษา มหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่ดำเนินโครงการสนองพระราชดำริฯ เข้าร่วมจำนวน 600 คน และนอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ. มาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ ความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยเอกวิสาร ปัญญชุณห์ รองศึกษาธิการภาค 10 ปฎิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 12 มาบรรยายในหัวข้อ บทบาทของสถานศึกษาในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการขับเคลื่อนเครือข่ายสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบรรยายในหัวข้อ บทบาทศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น
         ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวเปิดงานเสวนา หัวข้อ “บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปีที่ 2” ดังนี้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) รวมระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีนักวิจัย นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะปฏิบัติงาน ดำเนินงานการสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพรวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ปกปักทรัพยากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังสนองพระราชดำริในภารกิจที่สำคัญคือ การเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร การประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. ให้มีการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาค
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาทุกท่าน จะได้รับองค์ความรู้ และแนวทาง ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อีกทั้งยังได้รู้จักเครือข่ายสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือช่วยเหลือกันได้ต่อไป ในอนาคต
       จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน บูรณาการสอนเด็กไทย ตระหนักรู้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ” โดยมีคุณเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานผลิตสื่อ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่
       อ.เพียงเพ็ญ จ๋ายเจริญ ครูเชี่ยวชาญ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม กล่าวถึง การขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ดังนี้ “ความไม่เข้าใจกันของคณครูว่าทำไปเพื่ออะไร เราก็เห็นแล้วว่าการทำงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับนักเรียน การจะให้เกิดความร่วมมือได้จะต้องเกิดจากคุณครู เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน โดยนำพืชศึกษามาใช้ในรายวิชาตนเองและออกแบบใบงานให้ลูกศิษย์ทำตามใบงาน” นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่า “เริ่มจากตัวเองก่อนที่จะต้องเข้าใจเนื้อหา ชักชวนเพื่อนครูที่เข้าใจและช่วยเหลือกัน ออกแบบเป็นใบงานศึกษาเรียนรู้ และต้องศึกษาตามลำดับการเรียนรู้ของ อพ.สธ. อาจารย์ที่ร่วมงานกับเราก็ได้ผลงานด้วย และขอความร่วมมือกับอาจารย์ที่สอนในวิชาอื่นให้ช่วยสอนนักเรียนนักศึกษาในวิชาที่สอน เกิดการเพิ่มจำนวนอาจารย์ผู้สอนที่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการรายงานให้ผู้บริหารทราบถึงการบูราณาการการเรียนการสอน ซึ่งสามารถทำได้ทุกวิชา โดยจะต้องเปิดใจ”
       อ.สายยนต์ สิงหศรี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น กล่าวถึง การขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ดังนี้ “ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนต้องรู้หมดว่าใครทำอะไร สามารถตอบแทนกันได้ เกิดความภาคภูมิใจกับนักเรียน ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว ที่ไม่เคยรู้จักเลยก็ได้นำมาเรียนรู้ และโรงเรียนมีการสืบสานต่อยอด ”
      และ อ.วรัญญา นันทา ครูชำนาญการ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 50 จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึง การขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ดังนี้ “ในปีแรก ๆ การมีส่วนร่วมของครูยังไม่ครบทุกคน มีการรวบรวมข้อเสนอแนะ ซึ่งในปีแรกจะเหนื่อยแต่ยังมีเพื่อนร่วมงานที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานไปด้วยกัน มีการประชุมบ่อยขึ้น เอางานมากางและมอบหมายให้ครูและครูที่มาใหม่รับผิดชอบร่วมกัน”
Scroll to Top