มข. รับนโยบาย อว. ร่วม 8 มหาวิทยาลัย หนุน U2T สร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผนึก 8 มหาวิทยาลัยทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด  มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ประชุมสัมมนาวิชาการ การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability for all) เพื่อถอดสรุปบทเรียน University to Tambon (U2T) สู่ความยั่งยืน  กล่าวรายงานโดย รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับโดย นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวเปิดงานโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีผู้ว่าราชการ 15 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี ผู้นำส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา ผู้ถูกจ้างงาน วิสาหกิจ และประชาชนร่วมงานกว่า 100 คน  ณ Hall 1-3 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการ (System Integrator) การจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน และการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) การบริหารโครงการ ประกอบด้วย    การจ้างงาน 20 อัตราต่อตำบล และการดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตามศักยภาพและความต้องการของพื้นที่ โดยดำเนินการใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่    ด้านการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพ  การสร้างและพัฒนา Creative Economy การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy และ การนำองค์ความรู้ไปบริการชุมชน รวมทั้งกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่ผู้ได้รับการจ้างงานภายใต้โครงการนี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 11 เดือน (กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2564) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับผิดชอบจำนวน 135 ตำบล ใน 13 จังหวัด และเป็นแม่ข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคอีสานตอนบน ดำเนินงานโครงการในพื้นที่ รวม 395 ตำบล เกิดการจ้างงงานคนในพื้นที่ ตำบลละ 20 คน รวมจำนวน 7,900 คน แบ่งเป็นประเภท นักศึกษา จำนวน 1,975 คน บัณฑิตจบใหม่ จำนวน 3,950 คน และประชาชน จำนวน 1,975 คน ในการดำเนินงานดังกล่าว  ได้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 9 แห่ง รวม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และส่วนงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีการดำเนินงานโครงการมาแล้ว 10 เดือน จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ในระยะที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะแม่ข่ายฯ  จึงกำหนดจัดการประชุมสัมมนาวิชาการ “การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability for all) : การถอดบทเรียน University to Tambon (U2T) สู่ความยั่งยืน ในวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม ที่เกิดจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย รวมจำนวน 152 นิทรรศการ และเพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดทางการตลาดและ   ขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตและบริการ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ผู้จัดงานได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะ รวมทั้งการเจรจาธุรกิจ กลุ่มธนาคาร ด้านเวทีวิชาการก็ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมากด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หวังว่างานในครั้งนี้จะเป็นเวทีในการต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

             ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   กล่าวเปิดงานว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกตำบลได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ U2T ในระยะที่ผ่านมา รวมถึงได้จัดแสดงผลงานเสนอผลงาน สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการความมือในการจัดกิจกรรมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ให้ทุกท่าน ทุกส่วนงาน ได้เห็นความตั้งใจและความเสียสละ ในการขับเคลื่อนโครงการ U2T ครั้งนี้ จะเห็นว่าผลการดำเนินงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของมหาวิทยาลัย ไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ผ่านการจ้างงาน ซึ่งนอกจากเป็นการแก้ปัญหาการว่างงานและสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่แล้ว ผู้ที่ได้รับการจ้างงานยังได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง ดึงศักยภาพของตนเองออกมา เพราะผู้ถูกจ้างงานจะเข้าใจสภาพปัญหาของพื้นที่บ้านเกิด ตลอดจนมองเห็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนหรือทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้หรือประกอบธุรกิจ  รวมทั้งทำให้ตระหนักได้ว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหรือภูมิปัญญาชาวบ้านต่าง ๆ ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิดและพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็นตำบลที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น จักได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

            นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวต้อนรับว่า   โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน       ทั้งด้านการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเป็นไปตามศักยภาพและความต้องการของชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีสานตอนบน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น จักได้ร่วมมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นกำลังหลักพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานได้อย่างแท้จริง

 

ภาพ/ข่าว กองสื่อสารองค์กร

KKU receives MHESI’s policy with 8 other universities to run U2T and build sustainable communities

https://www.kku.ac.th/12235

Scroll to Top