สำนักบริการวิชาการ มข. ติวบุคลากรด้านการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ เพื่อยกระดับเป็นคอลเลจ

สำนักบริการวิชาการ มข. จัดอบรมบุคลากร เรื่อง “การเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการจากโครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” เพื่อให้บุคลากรสำนักบริการวิชาการ สามารถทำวิจัยจากการบริการวิชาการ เขียนบทความวิจัย หรือบทความวิชาการได้ เพื่อยกระดับเป็นวิทยาลัยศิลปวิทยาการ

รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ
ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                   รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ  ผอ.สำนักบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดการอบรม  “การเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการจากโครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม  2564  ณ ห้องประชุมดุสิตา สำนักบริการวิชาการ ให้กับบุคลากรสำนักบริการวิชาการ จำนวน 39 คน  เพื่อให้สามารถทำวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเขียนบทความวิจัย หรือบทความวิชาการ จากโครงการบริการวิชาการ เพื่อยกระดับเป็นวิทยาลัยศิลปะวิทยาการ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.อนันต์  พลธานี  ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน และด้านการเกษตร

รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ  ผอ.สำนักบริการวิชาการ กล่าวเปิดการอบรมว่า “สำนักบริการวิชาการ ดำเนินงานตามภารกิจของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ การปรับเปลี่ยนด้านการศึกษา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนด้านการบริการวิชาการ จะต้องมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV: Creating Shared Value) กอรปกับสำนักบริการวิชาการ จะต้องสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) และหลักสูตรสมัยใหม่ (New Normal Curriculum) ทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรที่ให้ปริญญา พร้อมยกระดับเป็นวิทยาลัยศิลปวิทยาการ (Collage of Art and Science) บุคลากรจะต้องทำงานวิจัยเป็นงานประจำ โดยมีกองทุนสนับสนุนวิชาการรองรับ  นอกจากนี้ยังมีวารสารสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองรับการนำเสนอผลงาน”

ศ.ดร.อนันต์  พลธานี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพื้นที่ และการผลิตพืชไร่

                   ศ.ดร.อนันต์  พลธานี  วิทยากร ได้กล่าวถึงความสำคัญของการวิจัย ว่า “เพื่อให้สำนักบริการวิชาการเป็นองค์กรแห่งคุณภาพ ต้องสร้างบุคลากรให้ทำงานวิจัยเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งวิธีการสร้างให้การวิจัยเป็นวัฒนธรรมองค์กรไม่ยาก โดยจะต้องวางแผน 1) ต้องมีโจทย์การวิจัย จากสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือ จากการหาโจทย์วิจัยในชุมชน (ต้นน้ำ)  2) การดำเนินการวิจัยหรือถ่ายทอดเทคโนโลยี (กลางน้ำ) และ 3) การเขียนผลงานวิจัย/การถ่ายทอดเทคโนโลยี (ปลายน้ำ) ให้ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ เมื่อวางแผนดี มีข้อมูลดี เราก็จะเขียนรายงานได้ง่าย และน่าเชื่อถือ”

Scroll to Top