U2T คณะเกษตรศาสตร์ มข. จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างตราสัญลักษณ์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัยและการขยายตลาดสินค้าชุมชนด้วย Digital Marketing”

คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัยและการขยายตลาดสินค้าชุมชนด้วย Digital Marketing” ณ ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัยและการขยายตลาดสินค้าชุมชนด้วย Digital Marketing” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) พื้นที่ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น  โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฝากจิต ปาลินทร หัวหน้าโครงการ และคณะทำงาน U2T โดยมี นายนภดล กลิ่นศรีสุข นางสาวศศิญาภา สำราญรมย์ นักออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนางสาวณัฐกานต์ อดทน เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แผนกสื่อสารองค์กร อุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้เกียรติเป็นวิทยากร

สืบเนื่องจากการจัดเวทีสะท้อนปัญหาและความต้องการของกลุ่ม พบว่า กลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัย เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนสร้างงานสร้างอาชีพการทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน OTOP ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าถุง โสร่ง ผ้ามัดแต้ม และผ้าย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น แต่เนื่องจาก ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ยังขาดความโดดเด่น ไม่สามารถสื่อถึงเอกลักษณ์และที่มาของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่จดจำและไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ดีพอ จึงต้องการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ ทั้งยังพบว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อช่องทางการขายสินค้าในรูปแบบเดิม ยอดจำหน่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น คณะทำงาน U2T ตำบลโนนหันจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาเป็นโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัยและการขยายตลาดสินค้าชุมชนด้วย Digital Marketing” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น และพัฒนารูปแบบการตลาดให้เข้าถึงการตลาดออนไลน์ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 พัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาดใหม่ในอนาคต

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ดำเนินการ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 50 คน ประกอบด้วย ประธานกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกบ้านโนนชัยและสมาชิกกลุ่ม คณะทำงาน U2T และเจ้าหน้าที่ อบต.โนนหัน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. การอบรมเชิงบรรยาย ประกอบด้วย แนวคิดการตั้งชื่อสินค้าและตราสัญลักษณ์ การเลือกใช้รูปทรง การเลือกรูปแบบตัวอักษรให้สอดคล้องกับข้อความ การใช้โทนสีที่สื่อถึงอารมณ์และเป็นที่น่าจดจำ ลักษณะของบรรจุภัณฑ์ องค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ หลักการออกแบบบรรจุภัณฑ์ วัสดุที่เลือกใช้ และบรรจุภัณฑ์ที่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ที่น่าสนใจในปัจจุบัน รวมถึงหัวข้อการขยายตลาดสินค้าชุมชนด้วย Digital Marketing คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดเบื้องต้น กลยุทธการตลาด 4P เทคนิคการตั้งราคา การวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาด ความสำคัญของพฤติกรรมการบริโภคสื่อกับ Digital และช่องทางการตลาดออนไลน์ที่กำลังนิยม โดยผู้เข้าร่วมให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีในตลอดระยะเวลาของการบรรยาย
  2. การอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย การรวมกลุ่มระดมสมองสะท้อนเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ โดยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้ทุกคนร่วมกันสะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบตราสัญลักษณ์ พร้อมบรรจุภัณฑ์ และลงมือออกแบบสร้างสรรค์ผลงานตามแนวคิดของสมาชิกกลุ่มย่อย จากนั้นได้ออกมานำเสนอผลงานการออกแบบของตนเอง อธิบายแนวคิดและที่มาขององค์ประกอบต่างๆ และร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกการออกแบบตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ที่ชื่นชอบที่สุด อีกทั้งในตอนท้ายของการอบรม ได้มีการสาธิตเปิดร้านค้าออนไลน์ด้วย Facebook ให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกปฏิบัติการจำหน่ายสินค้าผ่านทาง Facebook Live ซึ่งในการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าร่วมทุกท่านและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ นักออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และคณะทำงาน U2T ได้รวบรวมแนวคิดการออกแบบและข้อมูลทั้งหมดของกลุ่ม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงจัดทำแผนการตลาดให้ขยายไปสู่ตลาดออนไลน์ได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับถัดไป

ข่าวโดย: คณะทำงาน U2T ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

Scroll to Top