รายงานใหม่ของพืชวงศ์เขือง (Smilacaceae) จำนวน 5 ชนิดในภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.พรชัย กลัดวงษ์ นักวิจัยภายใต้โครงการฝึกอบรบรมนักวิจัยหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น (รหัสทุน PD2562-14) และ ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย จากศูนย์อนุกรมวิธานประยุกต์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานของพืชวงศ์เขืองในภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการทบทวนเอกสารและวรรณกรรม รวบรวมข้อมูลลักษณะสัณฐานวิทยาและการกระจายพันธุ์ของพืชแต่ละชนิด พร้อมทั้งการสำรวจภาคสนามในประเทศไทย ผลการศึกษาพบพืชที่เป็นการรายงานครั้งแรกของประเทศไทย 4 ชนิด และพืชที่เป็นการรายงานครั้งแรกของประเทศกัมพูชา 1 ชนิด งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Tropical Natural History ฉบับที่ 20(3): 244–255 แหล่งที่มา https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tnh/article/view/242803

ภาพที่ 1. แผนที่การกระจายพันธุ์ของพืชวงศ์เขืองบางชนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พืชวงศ์เขืองเป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่ม ลำต้นและกิ่งมักมีหนามหรือขนแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ก้านใบมีกาบและมีมือเกาะ ช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม มี 1 ช่อ หรือมีหลายช่อเรียงเป็นช่อแบบกระจะ กลีดดอกมี 6 กลีบ แยกกันหรือเชื่อมกันเป็นหลอด เกสรเพศผู้ส่วนใหญ่มี 6 อัน พบน้อยที่มี 3 อัน หรือ 9−18 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่มี 3 ช่อง ผลมีเนื้อ มี 1−3 เมล็ด พืชวงศ์นี้มีจำนวนประมาณ 260 ชนิด กระจายพันธุ์ทั่วโลกโดยส่วนใหญ่ในเขตร้อน พืชที่เป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ S. cambodiana, S. longiflora, S. paniculata และ S. setosa และพืชที่เป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศกัมพูชา 1 ชนิด คือ S. leucophylla พร้อมกันนี้ได้วาดแผนที่การกระจายพันธุ์ (ภาพที่ 1) และได้บันทึกลักษณะนิเวศวิทยาถิ่นอาศัยและภาพถ่ายของพืช รายละเอียดพืชแต่ละชนิดมีดังนี้

ภาพที่ 2. Smilax cambodiana: A. ต้นเพศผู้; B. ต้นเพศเมีย; C. ช่อผล
  1. Smilax cambodiana เป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งกลม เรียว มีหนามประปราย กาบก้านใบแคบ แผ่นใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกเป็นช่อซี่ร่มเชิงประกอบเรียงตัวแบบกระจะ มี 1−2 ช่อ กลีบดอกแยกกัน เกสรเพศผู้มี 6 อันแยกกัน พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์ในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม และเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทยโดยพบในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่ความสูง 200−600 เมตรจากระดับทะเล ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม (ภาพที่ 2)

    ภาพที่ 3. Smilax leucophylla: A. กาบใบ (ปลายลูกศร); B. ต้นเพศผู้; C. ต้นเพศเมีย; D. ช่อผล

2. Smilax leucophylla เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งกลม มีหนามประปราย กาบก้านใบรูปไข่แกมรูปใบหอก แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือ รูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกเป็นช่อซี่ร่มเชิงประกอบเรียงตัวแบบกระจะ มี 1−8 ช่อ กลีบดอกแยกกัน เกสรเพศผู้มี 6 อันแยกกัน พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์ในประเทศเมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศกัมพูชา พบในป่าดิบชื้นที่ความสูง 160−950 เมตรจากระดับทะเล ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนกธันวาคม ถึง พฤษภาคม (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 4. ภาพตัวอย่างพรรณไม้แห้ง: A. ช่อดอกเพศผู้ของ S. longiflora; B. ช่อผลของ S. setosa.
  1. Smilax longiflora เป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งกลม เรียว ไม่มีหนาม กาบก้านใบแคบ แผ่นใบรูปรีแกมรูปใบหอกถึงรูปใบหอก ช่อดอกเป็นช่อซี่ร่ม 1 ช่อ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด เกสรเพศผู้มี 9−10 อัน ก้านชเกสรเชื่อมกันที่ฐาน พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์ในประเทศจีน และเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทยโดยพบริมลำธารในป่าดิบชื้นบริเวณหุบเขาที่ความสูง 700 เมตรจากระดับทะเล ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (ภาพที่ 4A)
ภาพที่ 5. Smilax paniculata: A. ช่อดอกเพศผู้; B. ผล; S. setosa: C. ใบ; D. ขนแข็งบนลำต้นและกิ่ง
  1. Smilax paniculata เป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งกลม เรียว ไม่มีหนาม กาบก้านใบแคบ แผ่นใบรูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมแกมรูปใบหอก ช่อดอกเป็นช่อซี่ร่ม 1 ช่อ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด เกสรเพศผู้ มี 3 อัน ก้านชูเกสรเชื่อมกันที่ฐานยาวถึงครึ่งหนึ่งของของความยาวก้านชูเกสร พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์ในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม และเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทยซึ่งพบในป่าดิบชื้น ออกดอกและติดผลเดือนเมษายน ถึง สิงหาคม (ภาพที่ 5AB)

 

  1. Smilax setosa เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งกลม มีหนามประปรายและมีขนแข็งปกคลุม กาบก้านใบกว้าง แผ่นใบรูปไข่หรือรูปรีกว้างหรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกเป็นช่อซี่ร่มเชิงประกอบเรียงตัวแบบกระจะ มี 1−8 ช่อ กลีบดอกแยกกัน เกสรเพศผู้ มี 6 อันแยกกัน พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย โดยพบเป็นไม้เลื้อยบนชั้นเรือนยอดในป่าดิบชื้นที่ความสูง 300−500 เมตรจากระดับทะเล ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม (ภาพที่ 4B และ 5CD)
    ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย จากศูนย์อนุกรมวิธานประยุกต์ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ดร.พรชัย กลัดวงษ์ นักวิจัยภายใต้โครงการฝึกอบรบรมนักวิจัยหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Scroll to Top