มข.จัดงานประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 3 เน้นแนวทางศึกษาข้อมูลตลาดต่างประเทศ ปูทางส่งออก หวังสร้างรายได้เกษตรกรยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30 – 13.30 น. สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 3 ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “WHAT’S NEXT FUTURE FOOD 2021” โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมรูปแบบ Onsite จำนวน 40 คน  ณ ห้องประชุม Learning center 1301 ชั้น 3 สํานักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีการประชุมในรูปแบบ Zoom Online และการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กจิ้งหรีดปลอดภัย มข. – สกสว. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน

สืบเนื่องจากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (สกสว. TRP2) ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อรายงานความคืบหน้าและสรุปผล การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการเลี้ยงจิ้งหรีดร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจจิ้งหรีด สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้น พิธีการเริ่มจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน  ต่อจากนั้นเป็นการบรรยายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงจิ้งหรีด

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง เป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและประชาชนในภาคอีสาน มีความรู้ความชำนาญ รวมไปถึงนิยมบริโภคมานาน องค์ความรู้พื้นถิ่น ดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่  ถือเป็นโอกาสที่จะยกระดับเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ รายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยเกิดผลกระทบอย่างสูง ทั้งในระดับพื้นที่ และ ระดับนโยบายของประเทศ  ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมวิชาการในครั้งนี้ “WHAT’S NEXT FUTURE FOOD 2021”  ที่เป็นการสรุปองค์ความรู้ การวิจัย และการปฏิบัติภายในพื้นที่ต่อสาธารณชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และ นวัตกรรม สกสว. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้ และ ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกิจกรรมและผลักดันให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีสนับสนุนในภารกิจ และ ขอเชิญชวนนักวิชาการ ตลอดจนภาคราชการ และ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ กลุ่มเกษตรกร ร่วมมือกันผลักดันจิ้งหรีดเป็นโปรตีนแห่งอนาคตต่อไป”อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

รองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า  ในการขยายผลจิ้งหรีดในภาคอีสานระยะต่อไปคือ กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับ GAP แล้ว ต้องยกระดับตามแผนธุรกิจ ตามความเก่งของแต่ละพื้นที่ ไปสู่ GMP การแปรรูปเบื้องต้น การแปรรูปเป็นผงโปรตีนเป็นผลิตภัณฑ์ กีฏสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจาก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มีผู้ประกอบการในพื้นที่ตั้งแต่ ขนาดเล็กไปถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานในระดับภาค ไประดับประเทศเพื่อไปส่งเสริมในการส่งออก เพราะว่าตลาดส่งออกเป็นตลาดสำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก

“คิดว่าหลัง covid-19 ประเทศไทยจะมีความสามารถเรื่องของอาหารสุขภาพซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศ ผมคิดว่าการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันเป็นจุดสำคัญ มหาวิทยาลัยควรจะไปช่วยส่งเสริมการบูรณาการ การ ทำแผนที่เชื่อมโยง เช่น เกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม สถาบันการเงิน สถาบันวิจัย และ กรมกระทรวงการต่างประเทศ เพราะการเจาะตลาดส่งออก เราต้องมีจุดหมายว่าจะส่งไปประเทศใด เพราะแต่ละประเทศมีมาตรฐานต่างกัน มีความต้องการในผลิตภัณฑ์ ที่หลากหลาย เราจะใช้ตลาดเป็นตัวนำ  โดยไปศึกษาความต้องการแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศก่อนและย้อนกลับมาส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละเขตในแต่ละภูมิภาคผลิต ผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น  สิ่งที่เน้นย้ำคือ ผมไม่อยากให้จิ้งหรีดเป็นนโยบายที่ทำทั่วประเทศ ภาคไหนจังหวัดไหนเด่นเรื่องอะไรก็ควรจะส่งเสริมในระดับนั้น  เช่น ภาคอีสานและภาคเหนือ เก่งเรื่องจิ้งหรีดก็ให้ส่งเสริมเรื่องจิ้งหรีด ภาคกลางเก่งเรื่องอะไรก็ให้ส่งเสริมตามความถนัดของเกษตรกรนั้นๆ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงเกษตรมีข้อมูลหมดเรียบร้อยแล้ว”ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ประกอบด้วยหัวข้อน่าสนใจ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ จิ้งหรีดอีสานสู่จิ้งหรีดโลก? โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฟาร์มจิ้งหรีด GAP ยากง่ายอย่างไร? โดย ผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ และ ผศ.ดร.นยทัต ตันมิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เศรษฐศาสตร์จิ้งหรีด โดย ผศ. ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ชีวิตผู้นำกลุ่มเกษตรกรจิ้งหรีด โดย นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชมกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีด บ้านแสนตอ และนางสาวอรวรรณ วอทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนแมงสะดิ้งจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี หมู่ที่ 14

Start Up จิ้งหรีด โดย สพ.ญ. ลัลน์ลลิต สุคนธรัตนสุข บริษัท ลัลน์ลลิต อะกริ ฟู้ดส์ จำกัด ประสบการณ์จากอิสราเอลสู่จิ้งหรีดชัยภูมิ โดย นางอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์ บริษัท AIl bugs

นักธุรกิจภูธรสู่ตลาดจิ้งหรีดโลก โดย นายดนัย ศิริบุรี ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแมลงรวย

โมเดลธุรกิจจิ้งหรีดสู่อุตสาหกรรมอาหาร โดย ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้ที่สนใจสามารถ ชมการประชุมวิชาการจิ้งหรีดอีสานครั้งที่ 3 ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “WHAT’S NEXT FUTURE FOOD 2021” ย้อนหลังได้ที่

https://fb.watch/5q2mUABXHx/

KKU holds the 3rd Isan Cricket Conference, emphasizing foreign marketing for export and sustainable farmer’s incomes

https://th.kku.ac.th/wp-admin/post.php?post=63361&action=edit

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top