คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง “การเลี้ยงปูนาและการประมงน้ำน้อย” ณ ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพและรายได้เสริมภายใต้สภาพภูมิประเทศที่มีน้ำน้อย

เมื่อวันที่ 3-4 เมษายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเลี้ยงปูนาและการประมงน้ำน้อย” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลกุดเพียขอม (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ณ พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.กิริยา สังข์ทองวิเศษ หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งนี้ การฝึกอบรมได้บรรยายเรื่อง 1) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: รูปแบบประมงน้ำน้อย 2) ชีววิทยาและการเพาะเลี้ยงปูนาและ 3) รูปแบบการประมงน้ำน้อย โดย นายกัมพล ไทยโส สังกัดสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจภายใต้สภาพการใช้น้ำน้อย เช่น ปลาหมอ ปลานิล ปลาดุก กบ และเพิ่มทักษะการเพาะเลี้ยงปูนา เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน

โครงการฝึกอบรมเรื่อง “การเลี้ยงปูนาและการประมงน้ำน้อย”  เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงาน พบว่า พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นตำบลเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำหัตถกรรมผ้าไหม การเลี้ยงโค และการประมงน้ำน้อย ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีจำนวนแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพหัตถกรรมผ้าไหม และการเลี้ยงโคเป็นหลัก ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า เกษตรกรบางรายเลี้ยงปลานิล ปลาดุก และกบ ที่สามารถสร้างรายได้เสริมได้ค่อนข้างมาก แล้วมีความสนใจที่จะเลี้ยงปูนาหรือเพาะพันธุ์กบเพื่อจำหน่าย จึงสนใจเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดองค์ความรู้สำหรับพัฒนาอาชีพและรายได้ของครัวเรือนต่อไป

โครงการฝึกอบรมนี้ ดำเนินการ ณ ที่ว่าการองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม กำนันตำบลกุดเพียขอม และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 7 หมู่บ้าน จำนวน 140 คน

ในการดำเนินการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้จัดทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ติดตามการนำองค์ความรู้เรื่อง 1) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ: รูปแบบประมงน้ำน้อย 2) ชีววิทยาและการเพาะเลี้ยงปูนา และ 3) รูปแบบการประมงน้ำน้อย ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงหรือพัฒนารูปแบบการเพาะเลี้ยง ต้นทุนและรายได้จากการเพาะเลี้ยง รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในระหว่างการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการประมงน้ำน้อย เพื่อช่วยให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้เสริม สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับต่อไป

Scroll to Top