สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มข. จัดพิธีเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 14 หวังลดช่องว่าง นโยบายการศึกษา กับ การปฏิบัติจริงในชั้นเรียน เผยเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ปฏิรูปการศึกษาไทย

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564  สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ฝ่ายการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา สมาคมคณิตศาสตรศึกษา มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดพิธีการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 14 (The 14th National Open Class) ในรูปแบบออนไลน์ (Full Online) โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้มี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ ประกอบด้วย ผู้บริหารและคณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และ บุคคลที่สนใจ ร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 1,500 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์  รองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดงานครั้งนี้ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 14 ของการเปิดชั้นเรียน หรือที่เรียกว่า Open Class จึงต้องการจะสื่อสารถึงความหมายที่ซ่อนอยู่มากมายในการเปิดชั้นเรียน ประเด็นหนึ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ การเปิดชั้นเรียนเป็นการย่นระยะเวลา หรือ เป็นการปิดช่องว่างระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี เช่น ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายที่ต้องการให้ครูพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน ที่เรียกว่า PLC ซึ่งมีการสื่อสารตีความไปหลากหลายรูปแบบ แต่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา ทำงานวิจัยและการพัฒนาเรื่องการใช้นวัตกรรมในชั้นเรียนมานาน ฉะนั้นการเปิดชั้นเรียนจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Lesson Study และ Open Approach ที่สามารถยกระดับคุณภาพชั้นเรียนได้จริงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และ สามารถทำให้นโยบายเรื่อง PLC ปฏิบัติได้จริงในชั้นเรียน เพราะฉะนั้นการจัดงานในวันนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู เห็นภาพการเปิดชั้นเรียนว่าคุณภาพของชั้นเรียนอยู่ที่จุดไหนบ้าง ปีนี้เป็นปีที่ 14 ของ 20 ปีที่ปฏิรูปการศึกษาในบ้านเรา ซึ่งเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปิดชั้นเรียน โดยศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา สถาบันวิจัยพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง สถาบันเครือข่ายทั้งหมดในครั้งนี้ จะร่วมทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้นโยบายของรัฐประสบความสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ รองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา และ สถาบันเครือข่าย ในการเป็นหน่วยงานหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาวิชาชีพครูที่เชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตนักศึกษาครู และ ระบบการพัฒนาครูประจำการ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นการดำเนินงานนี้ยังสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research Transformation) ปรับเปลี่ยน การบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Collaboration/Coordination Projects) อีกด้วย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าว

ทั้งนี้ จัดพิธีเปิดการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 14 (The 14th National Open Class) ในรูปแบบออนไลน์ (Full Online)กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่  27 – 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย

1) เทปการบรรยายของ Prof. Yutaka OHARA จาก College of Education, Kanto Gakuin University บรรยายเรื่อง How to Update the Our Education after Covid-19  Pandemic และ รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาการคิด ด้วยวิธีแบบเปิด (Open Approach)

2) กิจกรรมเปิดชั้นเรียน โดยครูผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จำนวน 1 ชั้นเรียน ในวิชา วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอนโดย Prof. Toshinobu Hatanaka จาก Toho University  ประเทศญี่ปุ่น

3) กิจกรรมเปิดชั้นเรียน โดยครูไทยที่มีประสบการณ์ในการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด จำนวน 6 ชั้นเรียนในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และชั้นเรียนบูรณาการ

4) กรณีศึกษา เกี่ยวกับบทบาททางวิชาการของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรม และการ สอนภายใต้สถานการณ์ COVID-19

5) การแสดงนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) ของโรงเรียนในโครงการฯ,  สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน (IRDTP), ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา (CRME),  สมาคมคณิตศาสตรศึกษา (TSMEd) สถาบันรับรองสมรรถนะทางคณิตศาสตร์ (SUKEN)

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ฝ่ายการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

IRDTP, KKU, holds the 14th National Open Class aiming at lessening the gap between the education policy and the real classroom practice, and revealing the light at the end of Thai educational reform tunnel

https://www.kku.ac.th/10228

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top