มข.จับมือคุรุสภา และ NITS ประเทศญี่ปุ่น ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาสู่การสร้างคุณภาพในชั้นเรียน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ National Institute for School Teacher and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ร่วมด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ นางสาววราภรณ์ สายน้อย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดร.เจริญ ภูวิจิตร์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ดร.บูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา พร้อมนี้ Mr.Masahiro Oji Vice President สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมออนไลน์จากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดชั้นเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษาในชั้นเรียนและการเรียนรู้แบบเปิด เรียนรู้กิจกรรมกระบวนการเรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทั้งวิทยากรในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จากความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาผ่านการจัดโครงการนี้ที่ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาระดับประเทศ และเครือข่ายด้านการศึกษาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ความเป็นนานาชาติ เป็นสิ่งที่ช่วยในการพัฒนาการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เล็งเห็นว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีทางการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะกระตุ้นการแสดงออก ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีศักยภาพ และหลายส่วนสามารถนำมาปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยได้ โดยการจัดโครงการนี้มีแนวโน้มจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายนวัตกรรมและองค์ความรู้ให้กระจายไปในทุกโรงเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นโครงการที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องการปรับเปลี่ยนการให้บริการวิชาการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม พร้อมปรับเปลี่ยนการทำงานวิชาการที่รับผิดชอบต่อสังคม สู่การสร้างคุณค่าร่วมผ่านโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้มีศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการศึกษาในชั้นเรียน นวัตกรรมการจัดชั้นเรียนให้มีคุณภาพ รวมทั้งเกิดภาวะผู้นำ โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ National Institute for School Teacher and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโครงการนี้มีการดำเนินการทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ 1.การพัฒนาการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา  2.การเข้าร่วมการพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนและกระบวนการพัฒนาการสอนของประเทศญี่ปุ่น 3.การนำความรู้ไปประยุกต์และพัฒนาในสถานศึกษา และ 4.การติดตามและประเมินผล ทั้งนี้โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศ และครูฝ่ายวิชาการ โดยผ่านการคัดเลือกจากองค์กรร่วมมือทั้ง 4 ฝ่าย

 

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ได้ดำเนินการในการพัฒนาศักยภาพประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเฉพาะในการทำงานเชิงนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งได้มีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ในรุ่นที่ 1 และ 2 ซึ่งผลตอบรับดีมาก ซึ่งในปีนี้ทางคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้ง National Institute for School Teacher and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น ได้ท้าทายโดยการขยายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษากลุ่มเป้าหมายจาก 40 คน เป็น 113 คน ซึ่งโครงการนี้มีโอกาสที่จะจัดได้อย่างต่อเนื่องหากได้รับการตอบรับที่ดีเช่นนี้ และเชื่อมต่อกับงานเชิงนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการมาแล้ว และขยายผลไปทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มากกว่า 300 โรงเรียน เป็นการพัฒนาคุณภาพชั้นเรียนอย่างแท้จริง โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมมากกว่า 8,000 คน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ

 ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นความร่วมมือขององค์กรด้านการศึกษาระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีที่มาในความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในทุกส่วนของการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา

 

นางสาววราภรณ์ สายน้อย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในนามสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ขอแสดงความยินดีกับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านการศึกษาของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา สู่การเสริมทักษะด้านการพัฒนา ทักษะความคิด ผลจากความสำเร็จในการดำเนินการต่อระยะเวลาที่ผ่านมานำมาซึ่งการพัฒนาการเตรียมการ การบริหารจัดการ  การจัดทำหลักสูตรให้มีความเหมาะสม และเป็นก้าวสำคัญที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาและจัดการชั้นเรียนในสภาพจริง รวมถึงนำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการศึกษา นำไปใช้และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา จากความร่วมมือขององค์กรทางการศึกษาที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

ดร.เจริญ ภูวิจิตร์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า การที่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามีองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมทางวิชาการและการจัดการเรียนการสอน ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีการขยายและต่อยอดจากการจัดโครงการใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ให้ครูผู้สอนเข้ามามีบทบาทและเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น เกิดการเชื่อมโยงจากทั้ง สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบส.) ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน เกิดการสร้างนวัตกรรมในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สะท้อนถึงภาพของการขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทย กำลังขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง

Mr.Masahiro Oji Vice President สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ทาง National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ได้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 (ค.ศ.2018) ซึ่งตลอดระยะเวลาได้มีการทบทวนการจัดโครงการ นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการอบรมในโครงการนั้นดียิ่งขึ้น ซึ่งในครั้งนี้มีการจัดการอบรมในลักษณะออนไลน์ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หลายท่านไม่สามารถเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นเพื่อสังเกตชั้นเรียนด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามได้มีการพยายามใช้ข้อดีในการจัดอบรมผ่านออนไลน์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อผู้เข้าอบรมทุกท่าน ทั้งนี้ขอขอบคุณทางองค์กรการศึกษาของประเทศไทย ในการจัดโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในครั้งนี้

ดร.บูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในส่วนของคุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวัตถุประสงค์และหน้าที่ในการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ได้มีโครงการในการพัฒนาวิชาชีพครูโดยการนำนวัตกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาใช้ประเทศไทยซึ่งก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งเล็งเห็นว่าเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อวิชาชีพทางการศึกษา จึงเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้เรียนรู้นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ผลจากการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดผลทั้งโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในเชิงแนวคิดการใช้นวัตกรรม และผลต่อผู้เรียนซึ่งได้มีการนำนัวตกรรมไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน เป็นความสำเร็จในการพัฒนาวิชาชีพอย่างยิ่ง

สำหรับ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กำหนดระยะเวลาการพัฒนาประกอบด้วย 4 ระยะ โดยระยะแรกสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในด้านการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) การส่งเสริมการจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ (Classroom Management) และภาวะผู้นำ (Leadership) รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กิจกรรมเสวนาวิชาการถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้นวัตกรรมทางการศึกษา












ข่าว/ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

KKU joins the Teachers’ Council of Thailand and NITS, Japan to increase the capacity of education professionals in building quality classrooms

https://www.kku.ac.th/10218

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top