สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีลุยปั้น ‘มัญจาคีรีโมเดล’ สู่อำเภอต้นแบบแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี

สำนักข่าว : esanbiz

URL : https://www.esanbiz.com/39263

วันที่เผยแพร่ : 12 มีนาคม 2564

สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มข. เดินหน้าขับเคลื่อนมัญจาคีรีโมเดล สู่อำเภอต้นแบบแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ

วันที่ 9 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมคณะทำงาน เข้าประชุมหารือร่วมกับบุคลากรภาคการปกครองและภาคการสาธารณสุขขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอต้นแบบ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ณ ห้องประชุมภูเม็ง โรงพยาบาลมัญจาคีรี อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจากนายณัฐภัทร พลอยสุภา นายอำเภอมัญจาคีรี เป็นประธานการประชุมหารือฯ ในครั้งนี้ โดยมีนายแพทย์พรพล เหล่าวิทวัส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมัญจาคีรี พร้อมด้วยนายบุญเลิศ โพธิ์ชัย สาธารณสุขอำเภอมัญจาคีรี และบุคลากรโรงพยาบาลมัญจาคีรี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในอำเภอมัญจาคีรี เข้าร่วมประชุมกว่า 20 คน

ศาสตราจารย์ นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเรามีประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับอยู่กว่า 6 ล้านคน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงฯ นี้ สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ในอนาคต ซึ่งโรคมะเร็งท่อน้ำดีนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คร่าชีวิตพี่น้องประชาชนไทย เกินกว่าครึ่งเป็นพี่น้องชาวอีสาน โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่เป็นกำลังหลักที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ฯ ไปปีละมากกว่า 20,000 คน ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีความเป็นอยู่ของคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีผ่านโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในอำเภอต้นแบบ หรือเรียกกันในชื่อ “โครงการอำเภอต้นแบบ” โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวเชิงบูรณาการทุกภาคส่วนในอำเภอ มุ่งหวังลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ลงให้น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยเน้นการรณรงค์และสร้างความตระหนักครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพิ่มการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ เพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกในพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี ให้เข้าสู่การผ่าตัดให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มอัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่รับการผ่าตัดรักษาในพื้นที่ดำเนินการให้มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยอำเภอมัญจาคีรี เป็นอีกหนึ่งอำเภอต้นแบบเป้าหมายของจังหวัดขอนแก่น ที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 จะเข้ามาขับเคลื่อนดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเถอ (พชอ.) ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ ครอบคลุมการทำงานในด้านอาหารจากปลาปลอดภัย การจัดการระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในสถานศึกษา การกำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค และการรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ด้านการป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เป้าหมายคือให้ประชาชนเข้าใจการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี”

นายณัฐภัทร พลอยสุภา นายอำเภอมัญจาคีรี กล่าวว่า “ขอขอบคุณทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอย่างสูงที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นภัยเงียบที่ทำลายชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทำลายชีวิตญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดของเราไปมากมาย อาจจะเพราะพี่น้องประชาชนในอำเภอมัญจาคีรีส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและการรับรู้ถึงอุบัติภัยจากพยาธิใบไม้ตับและมเร็งท่อน้ำดี โครงการฯ นี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เราจะได้ลดอัตราการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลง ทางอำเภอมัญจาคีรีพร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งอำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปจากพื้นที่ เพื่อสุขภาวะที่ดีของพี่น้องประชาชนชาวมัญจาคีรี”

การแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นั้นจะขับเคลื่อนให้งานสำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกันหลายหน่วยหลายองค์กร เพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลและมีความต่อเนื่องยั่งยืน การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกันจากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ตั้งแต่การตัดวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ตับ ลดการแพร่กระจายสิ่งปฏิกูลตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารจากปลาวงศ์ตะเพียนให้อาหารปลอดภัย การเพิ่มภูมิคุ้มกันทางองค์ความรู้และการป้องกันให้แก่เยาวชน การจัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามผลได้ การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เมื่อเราสามารถลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับลงได้และสามารถผลักดันให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองและเข้ารับการรักษาได้แล้ว จะเป็นการช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

Scroll to Top