อธิการบดี มข.กล่าวถึงบทบาทงานวิชาการ เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองขอนแก่น งานวันนักข่าว 64

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. ร่วมงานวันนักข่าว ประจำปี 2564 พร้อมกล่าวถึงบทบาท ม.ขอนแก่น ที่เชื่อมโยงงานวิชาการ กับการเติบโต-พัฒนาเศรษฐกิจเมืองขอนแก่น

วันที่ 5 มีนาคม 2564 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำบุคลากร ม.ขอนแก่น เข้าร่วมงาน “วันนักข่าว และงานสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ประจำปี 2564” พร้อมมอบเงินสนับสนุน ให้กับชมรมนักข่าว-นักหนังสือพิมพ์และนักจัดรายการ จังหวัดขอนแก่นด้วย ณ ห้อง Graceland coffee shop โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ท่านสุชัย บุตรสาระ สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จากนั้น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติขึ้นกล่าว ถึงบทบาท ของมหาวิทยาลัยในการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงหลักวิชาการ กับการพัฒนาเมือง ของจังหวัดขอนแก่น ว่า

“การพัฒนาศักยภาพของจังหวัดขอนแก่น สู่ความเป็น MICE city มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งหน่วยงานใหญ่ ที่มีการจัดประชุมสัมมนาเยอะที่สุดใน จ.ขอนแก่น ในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การจัดประชุมสัมมนาได้หยุดไป ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราจะได้กลับมาจัดการประชุมสัมมนาทั้งในระดับชาติ และนานาชาติกันเหมือนเดิม ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นนั้นดีขึ้นด้วย

การเป็นขอนแก่นสมาร์ท ซิตี้ (Smart City)
การเป็นขอนแก่นสมาร์ท ซิตี้ (Smart City)

นอกจากนี้ การเป็นสมาร์ท ซิตี้ (Smart City) เมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มอบนโยบาย ให้กับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีโอกาสได้เข้ามาทำงาน ด้านสมาร์ท ซิตี้ กับทางจังหวัดขอนแก่น และภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมอง ให้มองลูกค้าที่มาใช้งานเป็นหลัก อาทิ นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กว่า 10,000 คน รวมถึงพลเมืองของ จ.ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักธุรกิจต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการเป็น สมาร์ท พีเพิล (SMART PEOPLE) ซึ่งจะเน้นไปในการใช้งานแอพพลิเคชั่น แผนที่ ร้านค้า ร้านอาหาร Cafe โรงหนัง เป็นต้น เหล่านี้หากเราทำให้เป็นรูปธรรม จะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ และขอนแก่นสมาร์ท ซิตี้จะเป็นสิ่งที่จับต้องได้

Medical hub
Medical hub เมดิคอลฮับ ขอนแก่น

หากเรามองเรื่องของ Medical hub เมดิคอลฮับ ขอนแก่น หรือศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์นานาชาติครบวงจร จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อม และมีภาคส่วนต่าง ๆ หลายส่วนได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ค่อนข้างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เฉพาะในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น โครงการ เมดิคอลฮับ เฟส 1 ได้เริ่มลงมือก่อสร้างในเร็ว ๆ นี้ และไม่เกิน 4 ปี ข้างหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทำให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางสุขภาพทางการแพทย์ ในภูมิภาคชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องของ รถไฟความเร็วสูง หรือระบบราง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเจรจากับท่านกงสุลใหญ่ประชาธิปไตยประชาชนจีน จ.ขอนแก่น ในการเปิดหลักสูตร วิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซ้าท์เวสเจียวทง หรือ มหาวิทยาลัยการคมนาคมภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขตเมือง เฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน โดยจะเป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์อีกหนึ่งสาขา ที่มีความต้องการสูงในอนาคต นอกเหนือจากหลักสูตร วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ ปัญญาประดิษฐ์ (Automation Robotics and Intelligent System Engineering) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดไปแล้ว

กัญชาและกัญชง KKU 1 และ KKU 05
กัญชาและกัญชง KKU 1 และ KKU 05

อีกทั้ง เรื่องของ “กัญชงและกัญชา” ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย และยังเป็นพืชเศรษฐกิจ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรามีสถาบัณวิจัยกัญชา และมีผลงานวิจัยกัญชามากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาสายพันธ์ ทั้งกัญชาและกัญชง KKU 1 และ KKU 05 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นสายพันธ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งกำลังจะขยายพันธ์ ในพื้นที่ 500 – 1,000 ไร่ ที่จะมีผลผลิตออกมาเป็นทั้งสารสกัดจาก ใบ ลำต้น และดอก จากผลการวิจัยในการทดลองปลูก ภายในหนึ่ง 1 ปี เราสามารถสร้างผลผลิตได้ 500 – 1,000 ตัน/ปี ซึ่งมีบริษัทจากเอกชนได้ทำการ MOU กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการรับซื้อทั้งหมดที่เราผลิตได้

เพื่อนำไปเป็นส่วนผสม การแปลรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป และสิ่งสำคัญทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังทำ Contract Farming หรือ ระบบการเกษตร การเพาะปลูกกัญชง-กัญชา ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปลี่ยนจากการปลูกอ้อย ในพื้นที่ภาคอีสานกว่า 6 ล้าน – 10 ล้านไร่ ให้หันมาปลูกกัญชาและกัญชง ทดแทนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ลดค่า PM 2.5 จากการเผาอ้อยลงได้อีกด้วย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แปลงดอกมากาเร็ต

นอกจากนี้ เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจซบเซา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ ได้มีการปลูกดอกไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจังหวัดขอนแก่นเขาไปเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็น แปลงกังหัน ต่อมาคือแปลงดอกคัตเตอร์ ปัจจุบันคือแปลงดอกมากาเร็ต และในอนาคตจะมีแปลงดอกปทุมมา หลายพันต้น ซึ่งจะเป็นโปรเจคต่อไปในฤดูฝน เหล่านี้เป็นผลงานของ สาขาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มข. ซึ่งเป็นการสร้างสีสัน และสร้างรายได้ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นได้อีกด้วย

ในท้ายที่สุด ท่านอธิการบดี ได้เล่าถึง บริษัทอินเตอร์เน็ตไทยแลนด์ ในจังหวัดขอนแก่น ที่ทำเกี่ยวกับระบบ คลาวด์ (cloud) เป็นรายแรก และรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ที่ จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก และเขาได้เลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นฐานที่ตั้งแห่งที่สอง โดยมีพนักงานกว่า 1,000 คน ที่คอยดูแลทำให้ข้อมูลไม่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีสตาร์ทอัพ กลุ่มธุรกิจทางด้าน IT จำนวนมากในจังหวัดขอนแก่น

ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภาควิชาคอมพิวเตอร์ ไซต์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ผลิตบัณฑิต ป้อนให้กับบริษัทอินเตอร์เน็ตไทยแลนด์ หลายร้อยคน ซึ่งตามแผนของบริษัทได้มีความต้องการ IT Man กว่า 300 คน/ปี ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังผลิตคนไม่พอต่อความต้องการ และเร็ว ๆ นี้ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีมติที่จะยกระดับ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ขึ้นเป็นวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้ผลิตบัณฑิตได้มากขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ด้านระบบ IT เราได้มองไปถึงการสร้างผู้ประกอบการ สร้างระบบเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นให้พัฒนาขึ้นได้ เพราะในปัจจุบันเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ธุรกิจทางด้าน IT เป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไร และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เป็นอย่างดี” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าว

เหล่านี้ คือกิจกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความเชื่อมโยง กับการพัฒนาการเจริญเติบโตของจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ในการนำงานวิจัย แก้ไขปัญหาสังคม ในถานะที่เป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม (ขุมปัญญาแห่งอีสาน) ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว/ภาพ: บริพัตร ทาสี

Scroll to Top