“ก้าวสู่ปีที่ 10” ชาว มข. ร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรปลอดสารพิษจากกิจกรรมแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข พร้อมส่งเสริมการเป็น Great Place to Live

      มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักงานอธิการบดี จัดกิจกรรมเก็บเกี่ยวแบ่งปันมันเทศหวานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข ปีที่ 10 ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมด้วย รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงแนวคิดในการสนับสนุนโครงการ และ นางสุนิภา ไสวเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน โดยมี ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะผู้บริหารหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี และบุคลากรร่วมเป็นเกียรติในกิจกรรม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ณ แปลงผักพอเพียง สำนักงานอธิการบดี อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      สำหรับกิจกรรมแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข ปีที่ 10 ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเก็บเกี่ยว และแบ่งปันมันเทศหวานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับมอบจากรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำมาเพาะปลูกและขยายพันธุ์ในพื้นที่แปลงผักพอเพียง สำนักงานอธิการบดี อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้เครือข่ายแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข สำนักงานอธิการบดี ได้ดำเนินการเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว และแบ่งปันผลผลิตการเกษตรในพื้นที่แปลงผักพอเพียงปีละ 2 ครั้งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 10 โดยในปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้เพาะปลูกมันเทศหวานญี่ปุ่นและข้าวไร่ ซึ่งจะได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและแบ่งปันให้กับสมาชิกเครือข่าย และผู้ที่สนใจ รวมถึงในอนาคตจะมีการปลูกพืชผักที่เติบโตได้ดีในฤดูหนาวสำหรับแบ่งปันให้กับสมาชิกเครือข่ายต่อไป

      ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมเก็บเกี่ยวแบ่งปันมันเทศหวานญี่ปุ่น รู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2553 ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 11 ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของกิจกรรมนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะก้าวสู่การเป็น Great Place to Live ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนที่ชัดเจนสำหรับการที่จะเป็น Great Place to Live นอกจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการผ่อนคลายด้วยเช่นกัน และรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าพร้อมกับรักษาสุขภาพไปพร้อมกันด้วย ซึ่งการจัดทำแปลงผักหรือพืชอื่นๆ แบบชีวภาพที่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกันดูแลเป็นการสร้างสถานที่ทำงานที่เหมาะสม โดยเฉพาะบุคลากรที่ร่วมดูแลและขยายพันธุ์ ทั้งนี้มีการบูรณาการและนำเทคนิคการเพาะปลูกและดูแลจากทางคณะเกษตรศาสตร์พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ ต้องขอชื่นชมสมาชิกเครือข่ายที่ได้สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เช่นนี้ เชื่ออย่างยิ่งว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีและจะมีการดำเนินกิจกรรมในปีต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง

      รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ได้มีอาหารที่ปลอดภัยได้รับประทาน แต่เป็นกิจกรรมที่สมาชิกเครือข่ายและชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน มีความรู้ร่วมในการทำงาน ซึ่งโฮมการ์เด้น หรือการปลูกผักเป็นเรื่องสหประชาชาติให้ความสำคัญ สู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเบื้องต้นและได้เข้ามาช่วยในการออกแบบ และวางแผนในการปลูกผักชนิดต่างๆ หลังจากนั้นก็เป็นบุคลากรสำนักงานอธิการบดี และชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการที่จะเลือกพืชต่างๆ ในการปลูก รวมถึงรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ ร่วมในการเพาะปลูก ทั้งนี้มีแนวคิดในการขยายพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างแปลงผักสาธารณะสำหรับผู้สนใจร่วมปลูกผักตามที่ต้องการ และพัฒนาผลิตผลที่ดีที่สุด พร้อมส่งเสริมในการผลิตอาหารรับประทานเองได้ที่บ้าน ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์จะมีส่วนในการสนับสนุนความรู้และความเชี่ยวชาญ และเห็นกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ยั่งยืน

      นางสุนิภา ไสวเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 โดยเครือข่ายแปลงผักปลอดภัยมหาวิทยาลัยมีสุข สำนักงานอธิการบดี ร่วมปลูก ร่วมดูแล เก็บเกี่ยว และแบ่งปันผลผลิตในพื้นที่แปลงผักพอเพียง และในครั้งนี้เป็นกิจกรรมเก็บเกี่ยวแบ่งปันมันเทศหวานญี่ปุ่น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากคณะเกษตรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตที่ได้จากโครงการเป็นผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ กิจกรรมเก็บเกี่ยวแบ่งปันมันเทศหวานญี่ปุ่น ซึ่งสมาชิกเครือข่ายได้รับพันธุ์มันเทศหวานญี่ปุ่นจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำมาเพาะปลูกและขยายพันธุ์เป็นระยะเวลา 3 เดือน และได้จัดให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและแบ่งปันให้กับสมาชิกเครือข่ายต่อไป

      นายธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารงานกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการแปลงผักปลอดภัย มหาวิทยาลัยมีสุข เป็นโครงการที่เกิดขึ้นริเริ่มโดยผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากทางคณะเกษตรศาสตร์ได้มาร่วมริเริ่มจัดทำในโอกาสเปิดอาคารสิริคุณากรในปี 2553 ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารสิริคุณากร จากนั้นชาวสำนักงานอธิการบดีได้มองเห็นว่าแปลงผักดังกล่าวควรมีเก็บรักษาและสืบสานให้ต่อเนื่องจึงรับสมัครสมาชิกเครือข่าย เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ร่วมกันโดยได้ความกรุณาจาก ศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ จากคณะเกษตรศาสตร์ และคณะนักศึกษาร่วมให้ความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ เพาะปลูก และเก็บเกี่ยว ส่งผลให้มีการดำเนินการเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี และจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 ซึ่งในหนึ่งปีจะมีการปลูกผัก 2 ครั้ง และสลับด้วยการปลูกถั่วลิสงเพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดิน หัวในสำคัญของกิจกรรมคือการให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานอธิการบดีได้ผ่อนคลายจากการทำงาน ได้ออกมาทำกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ร่วมกัน และพืชผลทางการเกษตรที่ได้เพาะปลูกเป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษอย่างแน่นอน ปลูกภายใต้แนวคิดอาหารปลอดภัยที่ทางคณะเกษตรศาสตร์ได้ให้การแนะนำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยในปีนี้มีสมาชิกเครือข่ายกว่า 300 คน จากหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดสำนักงานอธิการบดี เห็นได้ว่าหลายคณะและหน่วยงาน อาทิ สำนักหอสมุดได้นำแนวคิดนี้ไปทำแปลงผักที่สำนักหอสมุด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายแนวคิดในส่วนหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดีได้มีการขยายแนวคิดทำเป็นแปลงผักขนาดเล็กหรือกระถางผักหรือพืชผลทางการเกษตร โดยสำนักงานอธิการบดีจะเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายพันธุ์พืชและให้ความรู้ ให้ทักษะแนวคิดต่างในการนำไปขยายผล โดยที่หลังจากเก็บเกี่ยวมันเทศหวานญี่ปุ่น ซึ่งได้รับพันธุ์มาจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ ซึ่งได้มีการปลูกในแปลงข้างเคียง หลังจากเก็บเกี่ยวและจะมีการนวดในแบบวิถีชาวบ้าน และมีการสีข้าวเปลือกด้วยเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเราสามารถปลูกข้าวกินเองได้ จากนั้นจะเป็นการเตรียมดินเพื่อปลูกผักหน้าหนาว เมื่อถึงเวลาที่ผลผลิตงอกกงามจะเป็นหนึ่งในจุดถ่ายภาพที่สวยงามเช่นกัน

ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม

ข่าว ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ / วัชรา น้อยชมภู

Scroll to Top