รำลึก 120 ปี ‘สมเด็จย่า’ มข. ร่วม สถานกงสุลใหญ่ฯ และ ม.เว้ เวียดนาม หารือยกระดับสาธารณสุขและการพยาบาล

รำลึก 120 ปี’สมเด็จย่า’ มข. ร่วม สถานกงสุลใหญ่ไทย และมหาวิทยาลัยการแพทย์และการเภสัชนครเว้ เวียดนาม หารือแนวทางพัฒนาการสาธารณสุขและการพยาบาลทั้งสองประเทศ พร้อมมอบทุนการศึกษา  หนุนนักศึกษาเวียดนามเรียนต่อไทย

วันนี้  (วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ) คณะพยาบาล  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วม สถานกงสุลใหญ่ไทย และมหาวิทยาลัยการแพทย์และการเภสัชนครเว้ เวียดนาม  ประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางการสาธารณสุขและการพยาบาล  เนื่องในโอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ผู้สำเร็จการศึกษา โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อ พ.ศ.2456 และทรงได้รับการคัดเลือกให้ทรงไปศึกษาวิชาพยาบาล ที่สหรัฐอเมริกา  และเป็นองค์อุปถัมภก ด้านสาธารณสุขและการพยาบาล คู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ พระราชบิดา  เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยด้วยดีเสมอมา

ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ  มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวต้อนรับในนามอธิการบดีและกล่าวแสดงความขอบคุณทางสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ. นครโฮจิมินท์, Hue University of Medicine and Pharmacy และ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ในวาระร่วมจัดประชุมออนไลน์เพื่อร่วม ถวายความสดุดีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวาระ 120 ปี ต่อการพัฒนาระบบการสาธารณสุขและพยาบาล ในประเทศไทย

นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์  กล่าวว่า วันนี้เป็นคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ผู้วางรากฐานสำคัญแห่งการสาธารณสุขและการพยาบาลแห่งประเทศไทย  และพระองค์ยังเป็นพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียนนามมีความแน่นแฟ้นด้วยดีเสมอมา มีการมอบทุนการศึกษาให้ นักศึกษาเวียดนามมาเรียนกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมากขึ้น  โดยเฉพาะด้านการพยาบาล  ทั้งนี้รูปด้านหลังกระผมนี้ถ่ายโดยลูกชายของสมเด็จย่านั่นคือรัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทพระวรกายในการอุทิศเพื่อเป็นองค์อุปถัมภกด้านการพยาบาลไทย พร้อมก่อตั้งวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  และหวังว่าการหารือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมสัมพันธ์ ระหว่างไทยและเวียดนาม   ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ มีความพร้อมจะร่วมสนับสนุน ทั้งสองมหาวิทยาลัยต่อไป โดยในการนี้ทางสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ. นครโฮจิมินท์ได้ร่วมระดมทุนการศึกษา จากบริษัท ร้านค้า และบุคลากรในสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ.นครโฮจิมินท์ เป็นจำนวน 40,000บาท มอบให้นักศึกษาชาวเวียดนามที่อยู่ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พักตร์วิไล ศรีแสง คณบดีคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พักตร์วิไล ศรีแสง   คณบดีคณะพยาบาล  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้เป็นวันระลึกถึงครบร้อยยี่สิบปีของสมเด็จย่า ผู้เป็นองค์สำคัญในการสนับการพยาบาลของไทย  โดยการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพพยาบาลในประเทศไทย มีพัฒนาการในระดับการจัดการเรียนการสอนในระดับ พยาบาลศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต และ ปรัชญาดุษฏีบัณฑิตทางการพยาบาล

โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการศึกษาระดับ พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี พศ.2560 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และการเภสัชนครเว้ เวียดนาม พัฒนาการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษาทางไกล ( Distance learning) ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต ร่วมกัน โดยได้ผลิตมหาบัณฑิตทางการพยาบาลชาวเวียดนามแล้ว 13 ท่าน โดย อยู่ในระหว่างศึกษาอีก 2 ท่าน

Professor Nguyen Vu Quoc Huy ,Rector, HUMP อธิการบดี Hue University of Medicine

Professor Nguyen Vu  Quoc Huy  ,Rector, HUMP    อธิการบดี  Hue   University of Medicine  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยการแพทย์และการเภสัชนครเว้ ขอแสดงความขอบคุณสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ.นครโฮจิมินท์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะพยาบาลศาสตร์ ในวาระการจัดการประชุมทางไกลในวันนี้

มหาวิทยาลัยการแพทย์และการเภสัชนครเว้ มีความยินดีและภูมิใจต่อความร่วมมือทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลในเวียดนามเป็นอย่างดี และความสำเร็จต่อการผลิตมหาบัณฑิตทางการพยาบาล จำนวน 13 ท่าน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลในประเทศเวียดนาม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนาชาวเวียดนามร่วมกับบุคลากรสุขภาพและการบริการสุขภาพในเวียดนาม

Dr.Ho Thi Thuy Trang

         Dr.Ho Thi Thuy  Trang   ผู้ได้รับทุนและสำเร็จการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) และได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจากประเทศเกาหลีใต้ ได้ร่วมกล่าวแสดงความรู้สึกต่อสถาบัน ถึงความภาคภูมิใจมีความสุขอยากพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาวิทยาลัยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขอบคุณสำหรับการสนับสนุนด้วยดีเสมอมา

 

ทั้งนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เดิมชื่อ สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ของพระชนกชู  และ พระชนนีคำ พระชนนีคำเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษในการอ่านและรู้หนังสือ จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่ได้ผลักดันให้พระองค์ทรงก้าวสู่การศึกษา ขั้นสูงขึ้นต่อไป ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงเฉลียวฉลาด ญาติของครอบครัวพระชนกชู มาแนะนำพระชนนีคำให้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปฝากคุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นญาติ และเป็นพระพี่เลี้ยงของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสรินธร พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ด้วยพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา ต่อมาพระองค์ถูกส่งไปศึกษา ที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล ข้างวัดมหรรณพาราม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อ พ.ศ.2456 ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ทรงไปศึกษาวิชาพยาบาล ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ ปีที่ 1 ที่โรงเรียนแพทย์มหาลัยฮาร์วาร์ด ทรงพบ และพอพระทัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์ และมีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2463 หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และเสด็จไปสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน และทรงให้สมเด็จพระบรมราชชนนี เรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติเป็น พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท และพระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องสุขภาพของประชาชนตลอดมา ดังเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านได้มีพระมหากรุณาธิคุณก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา ซึ่งมีแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัช และประชาชนในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ร่วม เป็นอาสาสมัครในการให้บริการรักษาประชาชนที่มีปัญหาป่วยไข้และอยู่ห่างไกล สถานพยาบาล ตั้งแต่ ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2529 มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ประสานงานกับกระทรวงสา-ธารณสุข คณะทันตแพทย์ศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ทันตสาธารณสุข เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสวัน พระราชสมภพ วันที่ 21 ตุลาคม 2529 เป็นครั้งแรกโดยระดมทันตบุคคลากรและอาสาสมัครจากภาค รัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศออกไปให้บริการตรวจรักษาฟันโดยไม่คิดมูลค่าแก่ ประชาชนใน ถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม

นอกจากนี้พระองค์ยังให้ความสำคัญใน วิชาชีพพยาบาล ดังจะเห็นได้จากพระองค์ทรงให้ความสำคัญ ในวิชาชีพพยาบาลทัดเทียมกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและป้องกันโรค และเป็นวิชาชีพที่สมควรได้รับการยกย่อง พระองค์ทรงจัดตั้ง สภาการพยาบาลซึ่ง เป็นองค์กรควบคุมคุณภาพวิชาชีพพยาบาล ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การบริการ การวิจัย และบุคลากรของวิชาชีพพยาบาล ตลอดจนเป็นที่ปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะทางการพยาบาลต่อรัฐบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง รวมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนการศึกษา การวิจัย การเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้า ความสามัคคี จริยธรรมและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ปัจจุบันสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสภาพยาบาล นานาชาติและได้พัฒนาวิชาชีพด้านการนำระบบสารสนเทศ (ICNP : International Classification Nursing Practice) เข้ามาปรับปรุงการให้บริการพยาบาลซึ่งจะส่งผลการพัฒนาการจัดการศึกษา และการให้บริการพยาบาลของพยาบาลสถานศึกษาและสถานพยาบาลในอนาคต

สมเด็จพระศรีนครินทราบ รมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยจัดตั้ง

หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ เดินไปในถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับสิ่งตอบแทน และ เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน

มูลนิธิขาเทียม เมื่อ 17 ส.ค.2535 ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และครอบครัวได้

มูลนิธิถันยรักษ์ ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ มี.ค.2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม ได้นำเงินพระราชทานและเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม เครื่องอุลตราซาวด์ และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่บวชาญเรื่องตรวจ วินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

Scroll to Top