กตป.กสทช. ติดตามประเมินผลโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G มข.

20 สิงหาคม 2563  มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การต้อนรับ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  นำโดย ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้การดำเนินงานของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ในโอกาสเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานบันทึกข้อตกลงทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองและทดสอบ 5G  โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการติดตามและประเมินผล ฯ  ร่วมงานกว่า 100 คน  ณ ห้องประชุม สารสิน อาคารสิริคุณากร และ คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลแบบก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดนโยบายในแผนปฏิบัติการประจำปี 2564 ในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนขนานไปกับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ  ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาและวิจัยเชิงลึกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในการต่อยอดด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การบ่มเพาะภายในเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางดิจิทัลจากองค์ความรู้หน่วยงานและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ทั้งจากอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา การประสานงานกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลรองรับการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจในรูปแบบของการร่วมโครงการ หรือการร่วมกัน และการพัฒนาระบบการทำงานและการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้กระบวนการทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอกในอนาคต

ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ชื่นชมมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นศูนย์รวมด้านการศึกษาตลอดจนเป็นผู้คิดค้นทดลองสิ่งใหม่ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างมาก โครงสร้างพื้นฐานจึงจำเป็นต้องวางโครงข่ายให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบโทรคมนาคม สัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อขับเคลื่อนยุค 5 G เจนเนอเรชั่นที่ 5 ของการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารที่อนาคตมันจะไม่ใช่แค่มือถือ แต่เป็นอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ให้ความสำคัญและหวังจะขับเคลื่อนด้านการจัดการยุคดิจิทัลใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลยืนยันว่าต้องเกิดขึ้น โดยได้รับมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นและอีก 2 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย เป็นแม่ข่ายในการติดตั้ง ศูนย์ทดลองและทดสอบ 5G เชื่อมโยงกับงานวิจัย ตลอดจนการเรียนการสอน ก่อนนำไปปรับใช้กับมิติอื่น ๆ ในประเทศต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง ศูนย์ทดลองและทดสอบ 5G ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการใช้งาน (Use case) ประกอบด้วย การพัฒนาต้นแบบฟาร์มอัจฉริยะ 5G เพื่อรองรับการเกษตรแม่นยำแบบมุ่งผลลัพธ์เชิงธุรกิจ ( ฟาร์มเกษตรอินทรีย์อัจฉริยะและฟาร์มโคนมอัจฉริยะ )   แพลตฟอร์ทข้อมูลสำหรับบริการ Field Practice Solution บนระบบ 5G    ระบบควบคุมเครื่องจักรกลการเกษตรนำสมัยผ่านเครือข่าย 5G   ระบบเกษตรแนวตั้งระบบสื่อสารแบบ Internet of Things จำนวนมาก  ทั้งนี้ได้ลงพื้นที่ติดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G  จำนวน 2 จุด ได้แก่ ฟาร์มกัญชา และ โรงเลี้ยงไก่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทดลองทดสอบและประยุกต์ใช้ 5G ในฐานะหน่วยงานที่มีความพร้อมต่อการทดสอบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ ประชาชน หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ เข้าใจและเข้าถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G   เพื่อขับเคลื่อนชาติต่อไป

ด้าน พันเอก ดร.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าว เพิ่มเติมว่าการมาเยี่ยมชม use case 5G ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้เนื่องจากว่า ทาง สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิขาการ (MOU.) กับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ดังกล่าว ว่า มีการพัฒนา ยูสเคส หรือโชว์เคส ไปถึงไหนแล้ว รวมทั้งการติดตั้งสถานีฐานในการส่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz ที่ โอเปอร์เรเตอร์ แต่ละรายที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตนำคลื่นดังกล่าวมาทำ 5G ตนในฐานะกรรมการด้านโทรคมนาคม จึงต้องมาติดตามประเมินผล เพื่อสรุปเป็นรายงานนำเรียน กสทช. และ รัฐสภา รวมถึงประชาชน ให้ทราบต่อไป

NBTC carries out follow-up and evaluation of KKU’s 5G Experimenting and Testing Center
https://www.kku.ac.th/7653

ภาพข่าว

ข่าว จิราพร  ประทุมชัย

ภาพ คณะเกษตรศาสตร์

Scroll to Top