COLA KKU นำร่องใช้งานแพลตฟอร์ม CANVAS LMS จัดการเรียนการสอนออนไลน์แห่งแรกของ มข.

ในปัจจุบัน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดวิวัฒนาการและพัฒนาการเรียนการสอนผ่านสื่อที่พัฒนาโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เรียกว่า การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Learning ซึ่งปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้พัฒนาระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เป็นระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตมาใช้กันอย่างกว้างขวาง และจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบเดิมไม่อาจดำเนินการได้ เนื่องจากในชั้นเรียนแบบเดิมนักศึกษาและคณาจารย์มีความเสี่ยงที่จะได้รับและแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว

วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำโครงการ ยกระดับการเรียนการสอนและส่งเสริมสมรรถนะของนักศึกษาด้วยการเรียนรู้อัจฉริยะ (COLA Smart Lerning Initiative) เพื่อส่งเสริม พัฒนา และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะของนักศึกษาในการประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพในอนาคต และเพื่อยกระดับการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ให้ก้าวสู่โลกยุคดิจิทัล และสร้างสรรค์เนื้อหาที่เหมาะสมกับการเผยแพร่ในวงกว้าง และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต

ดังนั้น ในวันที่  28 พฤษภาคม 2563 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้งาน “CANVAS LMS” แพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ชั้นนำระดับโลก พัฒนาโดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานแรกของของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่นำระบบนี้มาใช้เพื่อร่วมทดสอบและพัฒนาร่วมกัน โดยในระยะแรกนี้เป็นการอบรมให้กับคณาจารย์และบุคลากรฝ่ายจัดการการศึกษาและฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดี กล่าวเปิดการอบรม และ ผศ.ดร.อนุชา โสมาบุตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน เป็นวิทยากร  ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 2 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

โดยสาระสำคัญของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เน้นไปที่หลักการและแนวทางการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ การจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ การออกแบบชั้นเรียนออนไลน์บนแพลตฟอร์ม CANVAS  ซึ่งเป็นระบบที่ตอบสนองการเรียนรู้ออนไลน์ที่ออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งานทั้งผู้สอนและผู้เรียน รองรับสื่อการเรียนการสอนทั้งภาพ วิดีโอ หรือสื่อออนไลน์แบบดิจิทัลอื่น ๆ  การใช้งานเครื่องมือที่สำคัญต่าง ๆ สำหรับผู้สอน ผู้เรียน และผู้ดูแลระบบ อาทิ ระบบจัดการรายวิชา (Course Management System) ได้แก่ เครื่องมือช่วยสร้างรายวิชา จัดทำและ นำเข้าเนื้อหาของรายวิชา จัดทำแหล่งค้นคว้าข้อมูลในรายวิชา กิจกรรมเสริมในรายวิชา ระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้เรียน (User Management System) ได้แก่ ระบบบริหารการจัดการผู้เรียนในรายวิชา สามารถสร้างกลุ่มผู้เรียนตามการเข้าใช้งานได้หลายระดับ มีระบบตรวจสอบสมาชิกผู้ใช้งาน และการเก็บรายละเอียดข้อมูลผู้เรียน ระบบตรวจสอบกิจกรรมและติดตามประเมินผล (Test & Tracking Management System) ได้แก่ เครื่องมือช่วยสร้างกิจกรรมแบบทดสอบ กิจกรรมการบ้าน และระบบทดสอบประเมินผลการเรียน และระบบจัดการการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (Communication Management System) เป็นส่วนส่งเสริมการเรียนให้มีการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งระหว่างผู้สอน – ผู้สอน, ผู้สอน – ผู้เรียน, และผู้เรียน – ผู้เรียน ซึ่งมีทั้ง รูปแบบ Online และ Offline

ภาพ/ข่าว  จิตรลัดดา  แสนตา ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร COLA KKU

Scroll to Top