สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล มข. “กระดูกสันหลัง” ของมหาวิทยาลัยดิจิทัลในอนาคต

อธิการบดี มข. เข้าเยี่ยมและรับฟังนโยบายสำนักเทคโนโลยีดิจิทัล ย้ำชัดนโยบายก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล เปรียบกระดูกสันหลังของมหาวิทยาลัยต้องแข็งแรง

หากพูดถึงโครงสร้างร่างกายของคนเรา โครงสร้างหลักที่ช่วยให้ร่างกายของคนทรงตัวอยู่ได้คงจะเป็น “กระดูกสันหลัง” เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างของ มหาวิทยาลัยดิจิทัล ในยุคปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น “เทคโนโลยีและดิจิทัล” เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้าเยี่ยมและพบปะผู้บริหารและบุคลากร “สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ” ซึ่งปัจจุบันได้มีมติจากที่ประชุมสถามหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เปลี่ยนเป็นชื่อ “สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล” (Office of Digital Technology) มีผลบังคับใช้วันนี้ 30 เมษายน 2563 โดยมีอาจารย์ ดร.กิตติ์  เธียรธโนปจัย  ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมด้วยบุคลากรให้การต้อนรับ

การเข้าเยี่ยมและรับฟังนโยบายสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลในครั้งนี้ ได้รับฟังการนำเสนอนโยบาย วิสัยทัศน์ในการทำงานของสำนักเทคโนโลยีดิจิทัล และการสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่ขาดแคลน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ทราบ รวมถึงการวางแผนนโยบาย การปฏิบัติงานที่รอบคอบ รอบด้าน เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในอนาคต

จากนั้น ท่านอธิการบดีได้มอบนโยบายด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพิ่มเติม สำหรับในอนาคตต้องมีการเพิ่มระบบ IOT (Internet of Things) การทำระบบ Data Center และระบบ infrastructure เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับและสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทั้งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังให้ความสนใจในด้าน Lifelong Learning (ไลฟ์ลองเลินนิ่ง) ซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้วางเป้าหมายสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” ซึ่งมี “สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นกระดูกสันหลังของมหาวิทยาลัย ต้องมีความแข็งแรง มีการวางแผนการทำงานให้รัดกุม รอบคอบ และรอบด้านทุกระบบเทคโนโลยีและดิจิทัล ในการสนับสนุนด้านการเรียนการสอน และการขับเคลื่อนการทำงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในอนาคตทุกอย่างจะไม่มีกระดาษ หรืออาจจะใช้กระดาษให้น้อยที่สุด การเขียนเช็คเงินสดจะไม่มี และบิลใบเสร็จต่าง ๆ จะออกเป็นดิจิทัลทั้งหมด

นอกจากนี้ บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำเป็นจะต้องทำงานภายใต้การเป็น smart people (สมาร์ท พีเพิล) ไม่จำเป็นต้องรู้เยอะ รู้เพียงแค่งานที่ตนได้รับมอบหมายให้ถ่องแท้ และสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายนั้น ให้ตอบสนองยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงสามารถ่ายทอดให้ผู้อื่นให้เข้าใจในงานที่ตนทำได้ เพราะการเป็น smart people คือหัวใจของ smart city และยังเป็นก้าวสำคัญของการนำไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับโลก” อีกด้วย

ข่าว/ภาพ: บริพัตร ทาสี

Scroll to Top