คณะนิติฯ มข. จัดสัปดาห์วิชาการ สร้างพื้นที่ “เรียนรู้ ลงมือทำ” สำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสัปดาห์วิชาการภายใต้หัวข้อ 𝐄𝐒𝐆 𝐅𝐨𝐜𝐮𝐬 𝐅𝐨𝐫 𝐋𝐞𝐠𝐚𝐥 𝐄𝐝𝐮𝐜𝐚𝐭𝐢𝐨𝐧 : 𝘐𝘯𝘵𝘦𝘨𝘳𝘢𝘵𝘪𝘯𝘨 𝘚𝘶𝘴𝘵𝘢𝘪𝘯𝘢𝘣𝘭𝘦 𝘗𝘳𝘢𝘤𝘵𝘪𝘤𝘦 𝘪𝘯 𝘓𝘢𝘸 (การศึกษากฎหมายเพื่อความยั่งยืน : การบูรณาการหลัก ESG กับกฎหมาย) มุ่งสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสัปดาห์วิชาการ ภายใต้หัวข้อ 𝐄𝐒𝐆 𝐅𝐨𝐜𝐮𝐬 𝐅𝐨𝐫 𝐋𝐞𝐠𝐚𝐥 𝐄𝐝𝐮𝐜𝐚𝐭𝐢𝐨𝐧 : 𝘐𝘯𝘵𝘦𝘨𝘳𝘢𝘵𝘪𝘯𝘨 𝘚𝘶𝘴𝘵𝘢𝘪𝘯𝘢𝘣𝘭𝘦 𝘗𝘳𝘢𝘤𝘵𝘪𝘤𝘦 𝘪𝘯 𝘓𝘢𝘸 (การศึกษากฎหมายเพื่อความยั่งยืน : การบูรณาการหลัก ESG กับกฎหมาย) เป็นการนำเสนอผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ในการจัดการการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยนักศึกษาสามารถที่จะบูรณาการนิติศาสตร์กับองค์ความรู้ที่หลายมิติ ทั้งกฎหมาย ความยุติธรรมทางสังคม และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจที่ครอบคลุมและความสามารถในการนำไปปฏิบัติอย่างร่วมสมัยและมีประสิทธิภาพ

ภายในกิจกรรมยังมีวงเสวนาวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วม เปิดใจและปรับตัว คำถามสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับทิศทางในการจัดการการศึกษาด้านนิติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน ทิศทางของอุดมศึกษาและบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการปรับตัวและทบทวนองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อทุกสาขาวิชา รวมถึงนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนในสังคม

และได้ข้อสรุปว่า DNA ของอนาคตนักกฎหมาย มีความรู้ความสามารถทางกฎหมายอย่างเดียว ไม่พออีกต่อไป นักกฎหมายต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความรู้ที่หลากหลาย และทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิดแบบบูรณาการ คิดวิเคราะห์  การแก้ไขปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

เมื่อเป้าหมายชัดเจน คือการสร้าง “นักกฎหมายแห่งอนาคต” (Future Lawyer) ที่แตกต่างจากแบบแผนที่ผ่านมา เราจึงต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เราได้พัฒนากลยุทธ์การสอนใหม่ ๆ โดยใช้แนวคิดแบบ Sandbox คือพื้นที่ทดลองและนวัตกรรม เพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน

ในการดำเนินการนี้ ทำให้ได้ ขบคิด ทบทวน และตั้งคำถามสำคัญหลายประการ (Key Questions) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษากฎหมาย

20 คำถามสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง (Key Question for Transformation)

  1. การศึกษากฎหมายในปัจจุบันตอบสนองต่อความท้าทายของยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร
  2. เราจะปรับเปลี่ยนจากการสอนที่เน้นการป้อนความรู้ไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์และผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร
  3. การบูรณาการกฎหมายกับศาสตร์อื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ สามารถสร้างมุมมองแบบองค์รวมให้แก่นักศึกษากฎหมายได้อย่างไร
  4. วิธีการสอนแบบ Project-Based Learning และ Problem-Based Learning มีบทบาทอย่างไรในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษากฎหมาย
  5. เราจะสร้างนิติทัศนะและอุดมการณ์ทางกฎหมายที่สอดคล้องกับพลวัตทางสังคมและ ความยั่งยืนได้อย่างไร
  6. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เน้นทักษะและการปฏิบัติจริงสามารถทดแทน การประเมินผลแบบดั้งเดิมที่เน้นคะแนนได้หรือไม่
  7. อาจารย์ผู้สอนควรมีบทบาทกับการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาในคุณภาพการเรียนรู้และความพร้อมสู่การทำงานสายงานกฎหมาย ที่กว้างขวางขึ้น
  8. เราจะสร้างความสมดุลระหว่างการสอนความรู้กฎหมายตามแบบแผนที่เป็นบรรทัดฐาน กับการส่งเสริมการคิดแบบฉลาดกว้าง วิเคราะห์และการมีส่วนร่วมของนักศึกษาได้อย่างไร (ฉลาดลึกสู่ฉลาดกว้าง)
  9. การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสอนกฎหมายสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างไร
  10. นักศึกษาควรมีบทบาทอย่างไรในการกำหนดทิศทางการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะ ของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  11. เราจะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสามารถในการปรับตัวของนักศึกษาในวิชาชีพกฎหมายได้อย่างไร
  12. การเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนการสอนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแนวทาง ESG สามารถสร้างนักกฎหมายที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
  13. การสร้างความร่วมมือระหว่างคณะ อาจารย์ และนักศึกษา สามารถสร้าง Project ให้เกิดนวัตกรรมทางกฎหมายได้อย่างไร
  14. ตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารกลยุทธ์ระดับรายวิชาในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างไร และจะปรับปรุงอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
  15. เราสนใจสร้างโมเดลเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแนวปฏิบัติที่ดีจากสถาบันการศึกษากฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับการศึกษากฎหมายในประเทศไทยได้อย่างไร
  16. อาจารย์ผู้สอนสามารถบริหารความแตกต่างระหว่างการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ที่ต้องการความถูกต้องตามบรรทัดฐานกับการสอนที่เน้นการพัฒนาความสามารถและทักษะงาน ได้อย่างไร
  17. การพัฒนากลยุทธ์รายวิชาจะช่วยให้การศึกษากฎหมายสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและตลาดงานได้อย่างไร
  18. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการแก้ไขปัญหา เชิงระบบในวิชาชีพกฎหมาย สามารถทำได้ในคณะนิติศาสตร์หรือไม่ อย่างไร
  19. เราพร้อมที่จะออกจากกรอบเดิม ๆ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตสำหรับการศึกษากฎหมายหรือไม่ หรือ จะยืนหยัดกับความเคร่งครัดตามแบบแผนที่มีความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้
  20. เราจะบริหารความเชื่อมั่นกับนักศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้สร้างความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงในการศึกษากฎหมายจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนได้อย่างไร

คำตอบของคำถามสำคัญอยู่ที่ “นักศึกษา”

ผลงานของนักศึกษาในสัปดาห์วิชาการ นักศึกษาจะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ที่พร้อมเป็นนักกฎหมาย (Regulators) เป็น นักลงทุน (Investors) ที่พร้อมลงทุนในความรู้และความรอบรู้  เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเอง และเป็น นักนวัตกรรม (Innovators) ที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายและสังคมที่เป็นธรรม

ซึ่งในการจัดการศึกษานิติศาสตร์ ในภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2567 ได้กำหนดกลยุทธ์การเรียนรู้ระดับชั้นปีดังนี้

ชั้นปีที่ 1 กฎหมายกับสังคม

  • คำถามสำคัญ “กฎหมายและนักกฎหมายที่สังคมคาดหวัง”
  • เนื้อหา “ความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและบทบาทของนักกฎหมายในสังคม”
  • ตัวอย่างคู่มือ: “ESG and Society: An Introduction for First-Year Law Students” สร้างความเข้าใจพื้นฐานของ ESG และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและบทบาทของนักกฎหมายในสังคม

ชั้นปีที่ 2 หลักกฎหมายมหาชน

  • คำถามสำคัญ “นักกฎหมายที่สร้างสมดุลของประโยชน์ส่วนรวมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน”
  • เนื้อหา “การบูรณาการหลัก ESG ในการสร้างสมดุลของประโยชน์ส่วนรวม”
  • ตัวอย่างคู่มือ: “Public Law and ESG: Balancing Public Interest and Sustainability” แนะนำแนวทางการประยุกต์ใช้หลัก ESG ในการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชั้นปีที่ 3 กฎหมายครอบครัว

  • คำถามสำคัญ “กฎหมายเป็นเครื่องมือส่งเสริมสถาบันครอบครัว”
  • เนื้อหา “การใช้หลัก ESG ในการสนับสนุนสถาบันครอบครัว”
  • ตัวอย่างคู่มือ: “Family Law and ESG: Promoting Sustainable Development” กฎหมายครอบครัวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชั้นปีที่ 3 กฎหมายพาณิชย์และการประกอบธุรกิจการค้า

  • คำถามสำคัญ “ความสามารถคิดและใช้กฎหมายแบบผู้ประกอบการ”
  • เนื้อหา: การใช้หลัก ESG ในการดำเนินธุรกิจ
  • ตัวอย่างคู่มือ: “Commercial Law, and ESG: Promoting Sustainable Development” จริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจ

ชั้นปีที่ 4 นิติทัศนะและจริยธรรมนักกฎหมาย และการบริหารงานยุติธรรม

  • คำถามสำคัญ “Future Lawyer & Foresight”
  • เนื้อหา “การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต”
  • ตัวอย่างคู่มือ: “Ethical Leadership and Global Vision in Law: Preparing Future Lawyers” กระบวนทัศน์และนิติทัศนะของนักกฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

 

Scroll to Top