นักวิจัย มข. สานแพลตฟอร์ม “Eng Lab For Film” สร้างศูนย์การเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษบนพื้นที่เสมือนจริง

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำทีมนักวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยบนพื้นที่เสมือนจริง” ( Virtual Reality)
ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานการยกระดับคุณภาพและสมรรถภาพของทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ธนัช แซ่จู อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วณิชชา ณรงค์ชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ ดร.ฮาวา วงศ์พงษ์คำ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ด้วยหลักสูตรเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษบนพื้นที่เสมือนจริง ผ่านแพลตฟอร์มห้องเรียน Eng Lab For Film” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร่วมโครงการกว่า 300 คน ณ ห้อง Auditorium ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ กล่าวว่า “โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยบนพื้นที่เสมือนจริง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๆ และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย”

โดยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีการแนะนำห้องเรียน “Eng Lab For Film” ในรูปแบบของห้องเรียน VR-Metaverse และยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองเล่นห้องเรียนได้ พร้อมทั้งทำแบบทดสอบ “ห้องเรียน Eng Lab for Film” ซึ่งเป็นแบบทดสอบในรูปแบบภาษาอังกฤษเกี่ยวกับกระบวนการผลิตภาพยนต์ ประกอบไปด้วย กระบวนการคิดผลิตผลงานภาพยนตร์ (Pre-Production), กระบวนการผลิตด้านโปรดักชัน (Production) และกระบวนการหลังถ่ายทำงานภาพยนตร์ (Post-Production) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตภาพยนต์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

แพรวา ชุ่มอภัย นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะวิทยาการสารสนเทศ ภาควิชานิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ เล่าความรู้สึกหลังจากเข้าร่วมโครงการว่า “การผสมผสานระหว่างนิเทศศาสตร์และภาษาอังกฤษบนแพลตฟอร์ม METAVERSE ทำออกมาได้สนุก สามารถช่วยกระตุ้นการเรียนภาษาอังกฤษให้ดูน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบุคลากรฟิล์มที่สามารถนำคำศัพท์ทางเทคนิคต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ภาษาอังกฤษไม่ได้ดูเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไปค่ะ”

แพรวา ชุ่มอภัย นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นอกจากกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแล้ว ทีมนักวิจัยยังได้ส่งมอบม VR เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียน “Eng Lab for Film” จำนวน 4 ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ดร.ณัฐหทัย มานาดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นผู้รับมอบ, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ดร.จันทรรัตน สิทธิสมจินต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพ และทรัพยากรสารสนเทศ ดร.ประสิทธิ์ ประทุมรัตน์ นักเอกสารสนเทศ ชำนาญการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการและโครงสร้างพื้นฐาน และนางสาวชุติกาญจน์ บุตรพรม บรรณารักษ์ ชำนาญการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการ เป็นตัวแทนรับมอบ

การเปิดตัวแพลตฟอร์ม METAVERSE และการจัดตั้งห้องเรียน “Eng Lab For Film” ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดงานระดับสากล เกิดการขับเคลื่อนกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสูง ซึ่งถือเป็นต้นน้ำที่จะผลักดันนโยบาย Thailand Soft Power ที่ทำให้เกิดการส่งออกวัฒนธรรมบันเทิงและวิถีความเป็นไทยผ่านเรื่องราวของภาพยนตร์สู่ตลาดโลกต่อไป

 

 

ข่าว : กลุ่มสื่อสารองค์กร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ภาพ : โครงการการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยบนพื้นที่เสมือนจริง

 

Scroll to Top