นศ.สถาปัตย์ มข.ลงพื้นที่ศึกษาอาคารจริง ปั้นสถาปนิกคุณภาพสู่สังคม

นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรายวิชา การออกแบบสถาปัตยกรรม 1 รหัสวิชา AR032101 จำนวน 60 คน  พร้อมคณาจารย์และวิทยากร ศึกษาความรู้จากบ้านพักอาศัย  2 ชั้น ณ เทศบาลนครขอนแก่น  เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

รายวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นวิชาภาคปฏิบัติที่เน้นการเรียนรู้กระบวนการออกแบบอาคารประเภทพักอาศัยสำหรับนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ในขอบเขตของขนาดอาคารพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร และมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร โดยวิธีการเรียนรู้ด้านการออกแบบที่มีประสิทธิภาพนั้น ในรายวิชาจัดให้มีอาจารย์ผู้สอนให้คำปรึกษาด้านงานออกแบบ 1 คน ต่อ นักศึกษาประมาณ 8 คน ให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางในการออกแบบอาคารแบบตัวต่อตัว ในลักษณะปฏิบัติการแบบ Studio แบบฝึกหัดที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปตามระดับชั้นปี ในภาคการศึกษาต้น ปี 2567 นี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รับโจทย์โครงการออกแบบ บ้านพักอาศัย 2 ชั้น เป็นที่มาของการลงพื้นที่ศึกษาในสถานที่จริงครั้งนี้

             รองศาสตราจารย์ ดร. สัญชัย สันติเวส  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า  “ในการเรียนการสอนอาจารย์จำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาในทุกๆ มิติ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ความรับผิดชอบในงานออกแบบสถาปัตยกรรมต่อตนเองและสังคม นอกจากการสร้างประสบการณ์จากการอ่านและดูภาพงานสถาปัตยกรรมในหนังสือแล้ว ยังต้องให้มีการได้ไปเห็นและรับรู้งานสถาปัตยกรรมในสถานที่จริงด้วย เราจัดให้นักศึกษาได้ไปดูงานอาคารที่สร้างและตกแต่งใช้สอยเสร็จแล้ว นักศึกษาก็จะรับรู้ Space ของงานสถาปัตยกรรม ซึ่งคำว่า Space เป็นคำสำคัญสำหรับสถาปนิกมาก เพราะมันเป็นการกำหนดจุด รูปร่าง รูปทรง สีและเส้น อาณาเขตทั้งมิติเชิงระนาบและแนวดิ่ง เพื่อให้ผู้ใช้อาคารเกิดความรู้สึกที่ดีต่อพื้นที่ว่างหรือ Space นั้นนั่นเอง โดยข้อมูลที่เป็น Subjective เหล่านั้นต้องถูกนำมาคลี่คลายให้สามารถวัดได้เป็นตัวเลขของขนาดและระยะต่างๆ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่อไป”

สถาปนิกจึงเป็นอาชีพที่มีกฎหมายควบคุม เรียกว่า “พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543” มีกฎกระทรวงกําหนดเป็น “วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” โดยมีสภาสถาปนิกกำกับดูแลและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ด้วยความตระหนักต่อวิชาชีพ   อาชีพสถาปนิก เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยที่มีผู้คนมาอยู่และใช้สอยในอาคาร ดังนั้น สถาปนิกจึงไม่ใช่เป็นเพียงนักออกแบบบ้าน ตึกและอาคารสวยๆ แต่ยังต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของอาคารและผู้ใช้สอยอาคารที่อีกด้วย

“การพานักศึกษาดูงานในครั้งนี้ เราได้เลือกสถานที่เป็นบ้านพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ใกล้จะเสร็จแล้ว ก็เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นโครงสร้าง วัสดุ และงานระบบวิศวกรรม ที่เป็นเสมือนงานเบื้องหลัง เพราะหากบ้านได้สร้างเสร็จแล้วก็จะถูกตกแต่งเพื่อซ่อนสิ่งเหล่านี้ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม การดูงานก่อสร้างบ้านในครั้งนี้ นักศึกษาจะสามารถนำประสบการณ์มาประติดประต่อเป็นความรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ดีได้ต่อไป”

          รองศาสตราจารย์ ดร. สัญชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า  ความร่วมมือจากศิษย์เก่า  เป็นเครือข่ายหนุนช่วย สำคัญสำหรับนักศึกษรุ่นต่อรุ่น   “ตั้งแต่เริ่มต้นคณะสถาปัตย์ มข. มีศิษย์เก่ากว่า 2,000 คน มีความผูกพันธ์เป็นสายใยอย่างรุ่นพี่รุ่นน้องตลอดมา ทางคณะฯ เราให้ความสำคัญกับเครือข่ายศิษย์เก่า นักศึกษาที่มีสถานะเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ เมื่อเขาเรียนจบไปทำงาน เราในฐานะอาจารย์เราจะไม่ได้มองเขาเป็นลูกศิษย์แล้ว แต่เรามองเห็นเขาได้เติบโตในหน้าที่การงานมีสถานะเป็นนักออกแบบหรือสถาปนิกอาชีพอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน การที่เราได้เครือข่ายศิษย์เก่าก็เหมือนกับการได้นักออกแบบหรือสถาปนิกมาช่วยเพิ่มประสบการณ์อย่างมืออาชีพให้แก่น้องๆ นักศึกษา”

หลักสูตรของสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความโดดเด่นคือ นอกจากอาจารย์จะดำเนินงานทางวิชาการการแล้ว ยังส่งเสริมนักศึกษาให้เรียนรู้นอกห้องเรียนในทุกรายวิชา

“อาจารย์ผู้สอนต้องใช้ทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ในการให้คำแนะนำ เพื่อชี้แนะให้นักศึกษาเข้าใจในสิ่งที่ตัวนักศึกษาเองนั้นกำลังออกแบบสร้างสรรค์ให้อยู่ในกรอบแนวความคิดที่มีความเป็นไปได้จริง เพื่อให้นักศึกษาเกิดทักษะและประสบการณ์จนสามารถตระหนักรู้ในการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ได้อย่างสมเหตุสมผลจนสร้างผลงานให้ออกมาเป็นอาคารได้ตรงจุดประสงค์ตามโจทย์งานออกแบบที่กำหนดได้  อาคารก็เหมือนร่างกายที่มีชีวิต นอกจากมีรูปร่างหน้าตาแล้วยังต้องมีงานระบบวิศวกรรมเป็นเสมือนอวัยวะเพื่อเป็นระบบและกลไกให้อาคารสามารถใช้สอยได้ ดังนั้น การจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยพานักศึกษาไปดูสถานที่จริงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ตามการศึกษาในพื้นที่จริงในครั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณ บริษัท เอทีพี อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยคุณอธิปไตย จุฬศักดิ์สกุล ศิษย์เก่าคณะฯ รุ่นที่ 22 ซึ่งเป็นประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท ATPAC ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ นักศึกษา และขอขอบคุณท่านเจ้าของบ้าน ที่อนุญาตให้สถานที่ดูงานเป็นวิทยาทาน

Scroll to Top