ความเท่าเทียมทางเพศกับบทบาทธุรกิจและเศรษฐกิจ

ปัจจุบันโลกเปิดกว้างและให้การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น โดยฉพาะอย่างยิ่ง “ความหลากหลายทางเพศ” จะเห็นได้ว่าในเดือนมิถุนายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ” หรือ “Pride Month” นอกจากนี้ “สีรุ้ง” ก็ได้ถูกนำมาใช้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับคนเหล่านี้อย่างแพร่หลายและใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีผู้คนและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกออกกิจกรรมหรือแคมเปญ เพื่อส่งเสริม “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งจะเห็นได้จากการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงหลายคนต่างเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในโซเชียลของตนให้มีสีรุ้งแทรกอยู่นั่นเอง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่การที่สังคมไทยมีการยอมรับและสนับสนุน LGBTQ+ มากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการแสดงออกถึงรวมถึงผลักดันสิทธิและเสรีภาพสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หนึ่งในนั้นคือการผลักดันเรื่อง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มติที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา ได้เห็นชอบให้มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศใน 120 วัน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศแรกในอาเซียน และได้ใช้สิทธิของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจบริการที่จะมีโอกาสเติบโตจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่น ๆ เฉพาะกลุ่ม เช่น ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก และยังสามารถสอดแทรกวัฒนธรรม สินค้าและบริการของไทยได้เป็นอย่างดี
(รศ.ดร.บัณฑิต สวรรยาวิสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาหน่วยธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

        ด้าน รศ.ดร.บัณฑิต สวรรยาวิสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาหน่วยธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความเห็นว่า หากพูดถึงความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีการเปิดกว้างกับเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนย่อมมีความหลากหลายของประชากรศาสตร์อยู่ในกลุ่มอาชีพนั้น ในทฤษฎี 7s ของ McKinsey เครื่องมือกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในบางประเด็นจะเกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้คนในองค์กรการทำงาน กล่าวคือ
       “เมื่อทั้งชายและหญิงรวมถึง LGBTQ+ ได้รับโอกาสในการทำงานและการพัฒนาทักษะอย่างเท่าเทียมกัน จะเกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร และการที่มีความหลากหลายในทีมงานจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้การมีมุมมองที่หลากหลายยังช่วยให้การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบและครอบคลุมมากขึ้น   ซึ่งองค์กรที่มีนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศจะมีโอกาสที่จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และรักษาลูกค้าเก่าได้ดียิ่งขึ้น และนอกจากนี้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรจะส่งผลให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและมีส่วนร่วมในที่ทำงาน เกิดความพึงพอใจและแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลโดยตรงต่อการลดอัตราการลาออกของพนักงานและการเพิ่มความจงรักภักดีต่อองค์กร ดังนั้นทุกคนและทุกเพศย่อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน สังคม และประเทศนั่นเอง”

         นอกจากนี้ รศ.ดร.บัณฑิต สวรรยาวิสุทธิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ในภาคอีสานธุรกิจบันเทิง หรือ การแสดงของ “หมอลำ” เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากมองตั้งแต่เบื้องหลังไปจนถึงเบื้องหน้า โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบชุดเสื้อผ้านักแสดง สร้างสรรค์ชุดการแสดงโชว์ ออกแบบท่ารำฟ้อน การติดตั้งเวที แสง สี เสียง จนถึงการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการแสดงโชว์ ไปจนถึงการขึ้นโชว์ในแต่ละวัน จะเห็นได้ว่าทุกเพศทั้งชายหญิงและ LGBTQ+ ต่างเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร โดยในการประชุม 8 องค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานในที่ประชุมว่า หมอลำของจังหวัดขอนแก่น ถูกว่าจ้างให้ไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและต่อยอดไปได้ไกลถึงการจัดงานเฟสติวัลระดับนานาชาติ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอีกหนึ่งธุรกิจที่มีทุกเพศรวมถึงกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศต่างเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน ส่งผลให้มีการพัฒนาทางธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย

(ทินภัทร ภูนาเหนือ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ด้าน ทินภัทร ภูนาเหนือ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า ความเท่าเทียมทางเพศมีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจในด้านภาพลักษณ์ขององค์กร ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ผู้คนต่างเปิดกว้างในเรื่องเพศ ทำให้มีการยอมรับและมองเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการรณรงค์หรือกิจกรรมผลักดันในเวทีต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นองค์กรธุรกิจในปัจจุบันจึงมีการหันมาผลักดันเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศเพื่อให้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
       “จากประสบการณ์ที่เคยเจอมามีหลายองค์กรและหลายสถาบันการศึกษา เกิดการสร้างความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมหรือสวัสดิการต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ LGBTQ+ แต่มีการสร้างความเท่าเทียมทั้งเพศชายและเพศหญิงด้วย แต่บางครั้งยังมีการติดภาพลักษณ์ที่เป็นการด้อยศักยภาพทางเพศอยู่ เช่น ผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้นำได้ดีเท่าผู้ชาย หรือมีการสร้างข้อบังคับทางเพศ เช่น ผู้ชายต้องเสียสละให้ผู้หญิงเสมอ จึงอยากให้องค์กรต่างๆ เล็งเห็นถึงความสามารถของตัวบุคคลมากกว่าเรื่องเพศ”

(พฤทธิ์ ราชนาวี เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร “แตงโม แซ่บเวอร์” Influencer ชื่อดัง)

เช่นเดียวกันกับ พฤทธิ์ ราชนาวี เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร “แตงโม แซ่บเวอร์” Influencer ชื่อดังที่หลายคนรู้จัก ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า เริ่มแรกตนทำธุรกิจร้านส้มตำเล็ก ๆ ไม่มีความแปลกใหม่ และธุรกิจร้านส้มตำมีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ ตนจึงพยายามมองหาความแตกต่างให้กับธุรกิจร้านส้มตำของตัวเองเพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งเพิ่มเมนูที่แปลกใหม่ นำวัตถุดิบที่มีมาต่อยอดเพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกปากและถูกใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่ทำอย่างไรให้ไก่ย่างมีรสชาติที่แตกต่างจากร้านอื่น ๆ รวมถึงตนเป็นคนที่มีบุคลิกชอบพูดตลก เฮฮา จากนั้นจึงเริ่มถ่ายคลิปวีดีโอ ทำ Content ตามสไตล์ที่ตนชอบ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในนาม Influencer จากนั้นตนจึงนำไอเดียจากการเป็น Influencer มาต่อยอดในการโปรโมทร้าน ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง เป็นร้านอาหารที่ใครมาขอนแก่นแล้ว ต้องไปลองชิมลิ้มรสชาติอาหารอีสานของ “แตงโม แซ่บเวอร์”
        “ก็อาจจะเป็น Role Model หรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้อง ๆ ที่เป็น LGBTQ+ ในการทำธุรกิจหรือเป็น Influencer ซึ่งแต่ละคนมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ค้นหาตัวเองให้เจอ อยากจะทำธุรกิจอะไร และจะทำการตลาดรูปแบบไหน โดยเริ่มต้นง่าย ๆ ให้ลองทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง สุดท้ายจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ แต่เราก็ได้ลงมือทำ แล้วเราก็ค่อยๆเรียนรู้จากการลงมือทำเพื่อพัฒนาต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจของเราให้ประสบผลสำเร็จในอนาคต”

      ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน “ความเท่าเทียมทางเพศ” จึงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทย การยอมรับและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์ให้กับ LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เป็นโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่จะนำพาธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความก้าวหน้าและยั่งยืนในอนาคต

—————————
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ https://tpso.go.th/home
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ www.amnesty.or.th
—————————
เขียน/เรียบเรียงโดย : บรรพต พิลาพันธ์
นักประชาสัมพันธ์ ภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top