มข.จัดเทรนด์ “Al for the Next Generation Leader Workshop” ปั้นผู้นำยุคดิจิทัล! เชื่อ ชอบ ใช้ AI เป็นผู้ช่วยสุดปัง

วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการอบรม Al for the Next Generation Leader Workshop สำหรับผู้บริหารระดับกลาง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดการอบรมพร้อมบรรยายในหัวข้อ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย Gen AI ทั้งยังได้รับเกียรติจาก รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาทักษะดิจิทัลจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเดินหน้านโยบายทั้งเรื่องการศึกษาและการทำงาน โดยเน้นสนับสนุนทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรได้มีความรอบรู้และสามารถใช้ AI ได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับการปรับทัศนคติเกี่ยวกับ Ganerate AI ไม่ให้เป็นผู้ร้าย แต่ให้เป็นผู้ช่วยในห้องเรียนที่ยังคงแนวคิดการเรียน Learning Paradigm คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ซึ่งคณาจารย์ต้องเชี่ยวชาญก่อนจะส่งต่อไปยังห้องเรียนได้

“เราต้องมีแนวคิดว่างานพื้นฐานนี้มีตัวช่วยแล้ว คือ AI ดังนั้น เราก็จะต้องเหนือไปอีกขั้น โดยการวางไกด์ไลน์การพัฒนานโยบายด้าน Generative AI พร้อมสนับสนุนให้คณาจารย์สามารถนำเครื่องมือมาใช้ออกแบบหลักสูตร ไปจนถึงวัดผลการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้และใช้ Generative AI เป็นเครื่องมือ นำไปสู่แรงงานยุคดิจิทัลที่ตลาดแรงงานต้องการ สิ่งสำคัญที่อยากฝากทุกคน คือ Generative AI ต้องเชื่อ ชอบ และใช้ให้เป็น”

บรรยากาศการอบรมเป็นไปด้วยความสนุกสนาน โดย รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้บรรยายในหัวข้อ Generative AI สำหรับผู้บริหาร โดยอธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของ AI และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ Generative AI ทั้ง Claude, Chat GPT และ Gemini ซึ่งเป็นตัวช่วยส่วนตัวที่ทำให้ประหยัดเวลาได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันความฉลาดของ AI ที่ถูกเทรนด์มาอย่างต่อเนื่องก็กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการมอง AI ให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวแล้วใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว

ขณะที่ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล กล่าวว่า คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ และพร้อมเรียนรู้เรื่องใหม่ คิดต่อยอด และใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เป็น ลงมือทำสิ่งใหม่ และคิดเพื่อปรับใช้กับงานของตัวเองให้ได้ พร้อมสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่ซับซ้อนแล้วนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาแก้ปัญหาที่เผชิญ

“มี 3 สิ่งที่ควรทำให้เป็นนิสัย คือ คิดงานอะไรให้นึกถึงดิจิทัลก่อน ติดตาม ศึกษา ทดลอง เทคโนโลยีใหม่ ๆ และคิดให้เกินกว่าที่เทคโนโลยีทำได้”

ทั้งนี้ ฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล ตั้งเป้าแผนดิจิทัลในอนาคต โดยคาดหวังให้บุคลากร มข.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา การวิจัยมากกว่าร้อยละ 50 ใช้ Gen AI ในการทำงาน ภายใต้แนวทางที่มหาวิทยาลัยแนะนำภายในปีนี้ และปีต่อ ๆ ไปจะมีหลักสูตรที่ได้รับการวิเคราะห์ผลกระทบจาก Gen AI เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรอย่างน้อยร้อยละ 50 ที่ใช้ Gen AI เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน และในปี 2570 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคน มีทักษะ Gen AI ในระดับที่สนับสนุนการทำงานในวิชาชีพได้

ขณะที่ภายในวันนี้ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการที่มาช่วยเสริมอาวุธให้เหล่าผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือใช้งาน AI เป็นผู้ช่วยสุดปัง ผ่านการแบ่งกลุ่ม Workshop Generative AI in Action เป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก AI as an Assistant (Operation/writing) มีวิทยากร คือ  ผศ.ดร.อนุชา  โสมาบุตร และ ผศ.ดร.ปรมะ แขวงเมือง ที่มาให้ความรู้คละเคล้าไปกับเสียงหัวเราะให้ทุกคนได้เข้าใจการทำงานของ AI ในชีวิตประจำวันได้แบบจัดเต็ม ด้วยเครื่องมือ Gemini, perplexity และ Gamma ต่อกันด้วยกลุ่มที่ 2 AI as an Analyzer (Data analytic/ Deep strategic/Learning) โดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์  สุดภักดี และอาจารย์ ดร.กิตติ์  เธียรธโนปจัย ที่มาให้ความรู้ เสริมทักษะการใช้เครื่องมือเพื่อเป็นตัวช่วยให้ทุกคน “คุยกับข้อมูล” ได้แบบง่าย ๆ เพียงไม่กี่คลิกด้วย Chat GPT และ Akkio สุดท้าย คือ กลุ่มที่ 3 AI as a Creator (Image/Music/Audio) โดย ผศ.บุรินทร์  เปล่งดีสกุล และอาจารย์ภราดร เสมาเพชร ที่มาสร้างจินตนาการด้วย AI เพื่อสร้างสรรค์ผลงานภาพ วิดีโอ ไปจนถึงการแต่งเนื้อร้อง ทำนองกลายเป็นเพลงที่ใช้ได้จริง ๆ โดยใช้ทั้ง Bing และ Sano เรียกได้ว่าอัดแน่นทั้งเนื้อหา สาระ และความบันเทิงกันทุกกลุ่ม


ด้าน นางมลฑา   แพงมา นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการ คณะเกษตรศาสตร์ แสดงความคิดเห็นหลังเข้าร่วมการอบรมว่า ที่ผ่านมาให้ความสนใจกับ Generative AI มาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้เรียนรู้หรือทดลองใช้อย่างจริงจัง จึงสนใจที่จะเข้าอบรมในวันนี้ และพบว่า AI หลายตัวเป็นผู้ช่วยที่ดีมาก ๆ ทั้งในงานเอกสาร การวางแผน หรือการทำสไลด์นำเสนอ ไปจนถึงรายงานการประชุม ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาเจ้าหน้าที่ให้ไปพัฒนางานด้านอื่น ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการอบรมที่สนุกและได้ความรู้ไปใช้ในการทำงานจริง หลังจากนี้ พร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในวันนี้ให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่น ๆ และสนับสนุนให้ทุกคนได้มาเรียนรู้เครื่องมือเหล่านี้ในอนาคต

 

Scroll to Top