“มะลิ 2” สายรัดข้อมืออัจฉริยะ เพื่อบริหารจัดการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุชาวขอนแก่น

“จะดีแค่ไหน หากเราสามารถรู้ถึงการทำงานของร่างกายเราทุกวัน วันนี้ร่างกายเราทำงานปกติดีมั้ย เมื่อคืนนอนหลับสนิทแค่ไหน วันนี้เราเดินกี่ก้าว เดินได้ระยะทางเท่าไหร่แล้ว ร่างกายเราเผาผลาญแคลอรี่ได้เยอะขนาดไหน”

เหล่านี้คือคำถามสุดฮิตของคนรักสุขภาพในปัจจุบัน ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดูแลใส่ใจต่อสุขภาพของตนอย่างใกล้ชิดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของผู้สูงอายุหรือในกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่ต้องการได้รับการดูแลและรักษาอย่างทันท่วงทีและทันสมัย จึงเป็นที่มาของโครงการการใช้สายรัดข้อมืออัจฉริยะเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการมีสุขภาพดีของประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น (บนแพลตฟอร์ม KHON KAEN SMART LIVING LAB) โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ กว่า 12 หน่วยงาน และมี รศ. ดร.รินา ภัทรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ

จากโครงการดังกล่าว ได้มีการจัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การใช้เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพและพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ” ณ ห้องภูพาน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธาน นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าววัตถุประสงค์โครงการ มีผู้สูงอายุ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เข้าร่วมโครงการว่า 400 คน นอกจากนี้ในงานฯ ได้มีการแนะนำการใช้แอพพลิเคชั่นและสายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ โดย นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) สาขาภาคอิสานตอนกลาง และ นาวสาวภาวินี ศิริทองสุข ผู้แทนจากบริษัทเทลี่ 360 ได้แนะนำการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผู้สูงอายุ

เวลา 10.30 น. ได้มีพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ โดย นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ุ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวรายงานแก่ประธาน โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล คณะกรรมการวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมการคนที่ 4 และ พลเอกบุญธรรม โอริส ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ได้ร่วมในพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อบริหารสุขภาพ มี คณะผู้บริหารเครือข่ายขอนแก่นสมาร์ทลิฟวิ่งแล๊ป รศ. ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายแพทย์ชาญชัย จันทรวรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น นางสาวจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลเขตพื้นที่ภาคอีสาน นายสุธี ครสวรรค์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง ประธานสภาเทศบาลนครขอนแก่น นางจันทนา ศรีจารนัย หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ดร.จักรสันต์ เลยหยุด หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธีและถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก


นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ุ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวรายงานความตอนหนึ่งว่า “ในนามผู้แทนคณะทำงานและเครือข่ายขอนแก่น Smart Living Lab รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าระวังและป้องกันภาวะสุขภาพรวมถึงเป็นประธานในพิธีมอบสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพในวันนี้ เทศบาลนครขอนแก่นได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชนเป็นเครือข่ายขอนแก่น Smart Living Lab และได้มีการสำรวจปัญหาสุขภาพและความต้องการเทคโนโลยีฉลาดของผู้สูงอายุในพื้นที่พบว่าประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้ม ความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อมในอัตราที่สูง ส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านลำพังในตอนกลางวันเนื่องจากลูกหลานต้องไปทำงานนอกบ้านถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือฉุกเฉินอื่น ๆ บางครั้งไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที การใช้เทคโนโลยีฉลาดเช่นสายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือ Smart Wristband เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างต้นแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพจากเซ็นเซอร์ติดตามสุขภาพและพฤติกรรมการสวมใส่ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับทราบข้อมูลสุขภาพของตนเองที่เป็นจริงในขณะนั้นเช่นการออกกำลังกายประจำวันการพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ค่าความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมและยังมีระบบที่เชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการอัจฉริยะอุบัติเหตุฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่และมีระบบการติดต่อสื่อสารที่ง่าย สะดวกในการใช้งานทำให้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ การที่เทศบาลนครขอนแก่นได้รับการสนับสนุนสายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพรุ่นมะลิ 2 จากเครือข่ายได้แก่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมาจำนวน 140 เส้นและในวันนี้จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสาขาภาคอีสานตอนกลางอีก 350 เส้นทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการจำนวนมากถึงเกือบ 500 คน ทำให้ได้ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ที่สามารถวิเคราะห์ทำนายภาวะสุขภาพผ่านศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะได้ ซึ่งจะช่วยให้จังหวัดขอนแก่นสถานบริการสุขภาพโรงพยาบาลรวมไปถึงผู้วางแผนด้านงบประมาณสุขภาพได้ตรงตามข้อเท็จจริงเกิดนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพใหม่ๆสามารถทำลายสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตลอดจนประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ในการวางแผนจัดการสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป ผู้เข้ารับมอบสายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ จำนวน 350 คน ในวันนี้ เป็นแกนนำสุขภาพและผู้สูงอายุ ที่ผ่านการคัดกรองจากศูนย์แพทย์/ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 8 แห่ง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นและนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าเป็นผู้ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Application ทางโทรศัพท์มือถือและจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามภาวะสุขภาพโดยจะมีผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือ CG และผู้จัดการระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวหรือ CM ช่วยติดตามภาวะสุขภาพรวมถึงแนะนำการใช้สายรัดข้อมือเพื่อการบริหารจัดการสุขภาพอย่างต่อเนื่องและรวบรวม/วิเคราะห์สรุปผลโครงการโดยทีมวิจัยจากเครือข่ายขอนแก่น Smart Living Lab”


ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวความตอนหนึ่งว่า “หนึ่งในความก้าวหน้าด้าน Smart city คือขอนแก่น Smart Living Lab ที่ได้รับรางวัลสุดยอดเมืองสมาชิกที่เอเชียแปซิฟิก ในปี 2562 ด้านสาธารณสุขและบริการสังคมซึ่งประกอบไปด้วย 1.ระบบการเฝ้าระวังป้องกันภาวะสุขภาพ Health prevention การใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์ฉลาดที่มีเซ็นเซอร์สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพและประมวลผลอัตโนมัติได้แก่สายรัดข้อมืออัจฉริยะเครื่องวัดความดันโลหิตเครื่องตรวจน้ำตาลออกซิเจนในเลือดตรวจความเข้มของอาหารเป็นต้นซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานในชีวิตประจำวันได้ 2. ระบบศูนย์สั่งการอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นการพัฒนาระบบการสื่อสารระหว่างรถพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลขอนแก่นผ่านระบบสัญญาณไร้สายเพื่อปิดช่องว่างการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะวิกฤตระหว่างส่งต่อจากโรงพยาบาลต้นทางไปยังโรงพยาบาลปลายทางให้เกิดความปลอดภัยด้านสุขภาพแก่ประชาชนเดี๋ยวจะซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โรงพยาบาลชุมชนรวมทั้งติดตั้งระบบสื่อสารแบบ video call และ medical GPS tracking ในรถแอมบูแลนซ์ 3. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของจังหวัดขอนแก่น (Big Data) และถนนข้อมูลสุขภาพ (X-ROAD) ที่จะช่วยให้ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองนำข้อมูลไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองได้ สะดวกต่อแพทย์และทีมงานด้านสุขภาพ เพราะเป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกัน เห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องไม่ซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณจากการทำซ้ำในเรื่องเดียวกัน และช่วยให้การรักษาพยาบาลการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นขึ้น


ด้าน รศ.ดร. รินา ภัทรมานนนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “โครงการขอนแก่น Smart Living Lab เป็นโครงการความร่วมมือ ของ 12 พันธมิตรหน่วยงาน ในงาน Digital Thailand Big Bang Regional 2018 โดยที่ 12 หน่วยงานนี้ประกอบไปด้วย 1.จังหวัดขอนแก่น 2. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนกลาง 4. โรงพยาบาลขอนแก่น 5. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 6.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น 7.เทศบาลนครขอนแก่น 8.คณะเทคนิคการแพทย์ 9. คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 10 . สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 11. ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น และ12. ขอนแก่น Smart Living Labโดย วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อจัดหาเทคโนโลยี ดีต่อสุขภาพเพื่อให้ประชาชนได้ทดสอบและใช้งานจริงและร่วมกันออกแบบ รูปแบบการให้บริการหรือการใช้เทคโนโลยีฉลาดไปด้วยกันควบคู่กับการรายงานการวิจัยทางด้านการใช้อุปกรณ์ฉลาดเหล่านี้เพื่อจะได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพของตนเองได้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในพันธกิจของขอนแก่น Smart Living Lab

สำหรับบทบาทของคณะวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนขอนแก่น Smart Living Lab ในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะวิทยาศาสตร์ เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับอีกหลายๆ คณะ รวมไปถึงขณะทางฝั่งสายสุขภาพและสายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นต้น ล่าสุดคณะบริหารธุรกิจก็ได้มีบทบาท ในการทำงานร่วมกันในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นภาควิชาการ ในการที่จะช่วยออกแบบ ช่วยวิเคราะห์รูปแบบการรายงานในด้านวิชาการ เวลาที่เรานำเทคโนโลยีไปประชาสัมพันธ์ในชุมชน พื้นที่ในแต่ละที่ ถ้าพูดถึงในเชิงเทคนิค ความเข้มแข็งของคณะวิทยาศาสตร์ก็จะอยู่ตรงที่ภาพของการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัว IT Platform และส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือเรียกว่าการวิเคราะห์ในเชิงของ Data science หรือวิทยาการข้อมูล ในภาพทั้งหมดตรงนี้จะสามารถเรียกการทำงาน รวมกันหลายๆคณะว่า การทำงานข้ามสาขาหรือที่เรียกกันว่า Multidisciplinary (สหสาขาวิชาชีพ) ซึ่งตัวนี้เองที่ กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ต้องการให้เห็นภาพของการทำงาน ข้ามศาสตร์ เพื่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ ๆ ขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมได้อย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต

สำหรับจุดเด่นของสายรุ่นข้อมืออัจฉริยะ A-Live รุ่นมะลิ 2 คือ มีระบบ REAL TIME MONITERING คือ วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิตและอัตราออกซิเจนในกระแสเลือด ระบบ ALL DAY ACTIVITY คือ นับก้าวเดินบันทึกระยะทางการเดินและการเผาผลาญแคลอรี่ ระบบ SLEEP MONITOR คือ การบันทึกข้อมูลการนอนหลับ ระบบ IDENTIFY BY QR CODE คือ ระบุตัวตนด้วย QR CODE ง่ายต่อการติดตามและส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์ ระบบ WATER PROOF คือ สามารถใส่อาบน้ำได้ กันน้ำได้ลึก 1 เมตร ไม่เกิน 30 นาที และระบบที่ถือว่าเป็นรีสแบนด์หนึ่งเดียวในไทย คือระบบ STAR OF LIFE ที่สามารถเชื่อมการทำงานกับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินในไทย รศ. ดร.รินา กล่าวสรุป ”

ภาพ/ข่าว โดย สุขทวี คลังตระกูล

Scroll to Top