ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม KKBS รับโล่เกียรติคุณพระราชทาน ในฐานะองค์กรเครือข่ายของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)

มูลนิธิอาสาเพื่อพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้มอบโล่เกียรติคุณพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม (Social and Business Incubation Center) คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากเคยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อดำเนินงานร่วมกันในการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประสบอุทกภัย และเกษตรกร ซึ่งประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อ พ.ศ. 2561

ทีมบุคลากรศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้จัดการแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)  โดยการลงนามความร่วมมือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางระบบการตลาด การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และอบรมบ่มเพาะผู้จัดการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) โดยผ่านโรงเรียนผู้จัดการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ให้มีความรู้ ความชำนาญ ได้ทำการอบรมบ่มเพาะและเกิดทีมผู้จัดการทำนาแบบประณีตฯ ทั้งหมด 166 ทีม กระจายตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคนิคการทำนาให้ดียิ่งขึ้น และถ่ายทอดเทคนิคการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทำนาทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าใจและปฏิบัติตามระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้   แต่เนื่องจากในปัจจุบันศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคมได้ขยายขอบเขตงานและมีบทบาทภารกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการผลักดันระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประยุกต์กับองค์ความรู้ในเชิงธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในชุมชนนั้นๆ สร้างระบบการตลาดและธุรกิจเพื่อสังคมการเกษตรแบบประณีตที่ไม่แสวงหากำไรจนเกินไป จึงได้ลงนามความร่วมมือ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2560 กับทางมูลนิธิฯ และขอปรับเปลี่ยนชื่อศูนย์ใหม่ให้มีความสอดคล้องกับภารกิจในปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม” โดยจะมีบทบาทหน้าที่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีผลิต และวิถีชีวิตของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับองค์ความรู้ทางธุรกิจ มุ่งให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต เน้นการลด ละ เลิก ใช้สารเคมี ทำให้มุ่งสู่วิถีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ทั้งนี้ได้จัดตั้งให้เกิดการพัฒนา “เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด” ซึ่ง “Smart Farmer” คือเกษตรกรที่มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร และ “Smart Officer” เป็นบุคคลที่มีความรักเกษตรกรเหมือนญาติมีความรอบรู้ทางวิชาการและนโยบาย ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร โดยมีมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นผู้สนับสนุนหลัก

รศ.ดร. เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ผูัอำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม

รศ.ดร. เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี (KKBS)  ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์นี้เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ตั้งแต่สังคมระดับเล็ก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ในส่วนการทำงานของศูนย์เราเริ่มต้นจากร่วมมือกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในขณะนั้นได้ประสบกับภัยน้ำท่วม ที่ภารกิจหลักคือการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยทางธรรมชาติอย่าง น้ำท่วม  ซึ่งจะมีการช่วยเหลือ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ประสบอุทกภัยที่จะมีการไปแจกถุงยังชีพ ช่วงที่สองคือช่วงของการฟื้นฟูให้กับผู้ประสบภัย โดย รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิ ได้เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่ได้ทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งภัยธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือหลังผ่านภัยธรรมชาติไปแล้วสามารถที่จะฟื้นฟูตัวเองกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยเริ่มจากการทำนา ที่มีพื้นที่นาเสียหาย ซึ่งได้คิดค้นการทำนาแบบประณีตเพื่อนพึ่งพา จะเป็นเทคนิคการทำนารูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย คือ เครื่องหย่อนกล้าข้าว ทางมูลนิธิได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาเครื่องหย่อนกล้าข้าวขึ้นมา เป็นเครื่องที่มีความแม่นยำ สามารถปลูกข้าวได้รวดเร็ว ในปกติจะใช้มือในการปลูกได้ประมาณ 3-4 ไร่ต่อวัน แต่ถ้าใช้เครื่องจะได้ประมาณ 20 ไร่ต่อวัน ซึ่งในระหว่างช่วงที่เกิดภัยน้ำท่วมเราสามารถเพาะกล้าไว้ เมื่อระดับน้ำลดก็สามารถใช้กล้านี้ไปปลูกได้เลยเป็นเทคนิคหนึ่งของการทำนาสมัยใหม่ เพื่อลด ละ เลิก การใช้สารเคมี

การลงพื้นที่ทำงานของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข.

ทางมูลนิธิไว้วางใจให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและสังคม ได้ทำหน้าที่ในการสร้างวิธีจัดการการทำนา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปใช้ในการทำนาที่มีความแม่นยำได้ผลผลิตสูง ใช้เวลาน้อยลง และประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมูลนิธิได้รับการสนับสนุนมาตลอด  ที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินงบประมาณ เครื่องมือ เครื่องจักร อีกทั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นจำนวนมาก บทบาทการทำงานอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างในเรื่องของการฟื้นฟูที่เน้นน้อยลง แต่เน้นการช่วยเหลือแบบทันถ่วงทีในช่วงภัยพิบัติมากขึ้น

รศ.ดร. เพ็ญศรี เจริญวานิช กล่าวทิ้งทายว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิถือว่าเป็นงานที่เราได้รับใช้พระองค์ท่าน และทำงานเพื่อชุมชนและสังคม โดยตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา เราใช้สติปัญญา ความสามารถ ทุกอย่าง โดยไม่หวังค่าตอบแทนใด ๆ จึงทำให้พระองค์ท่านเล็งเห็นถึงความตั้งใจและความเสียสละ และได้พระราชทานรางวัลนี้เป็นเกียรติประวัติในชีวิต และเราจะตั้งใจทำคุณงามความดีเพื่อสังคม ต่อไป

ข่าว :ชุตินันท์  พันธ์จรุง /วนิดา  บานเย็น
ภาพ :วรัญญู ดอนเหนือ

 

 

 

Scroll to Top