มข. หลอมรวม ศิลปะไทย จีน อีสาน สร้างสรรค์สถานที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี 2566 วิจิตรและทรงคุณค่า

 

     ถึงแม้งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พุทธศักราช 2566  เมื่อวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2566 จะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่สิ่งที่ถูกกล่าวถึงหลังจากนั้นก็คือความประทับใจในความสวยงามของการประดับตกแต่งสถานที่ประกอบพิธีฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ในแต่ละปี ทั้งบริเวณหน้าที่ประทับในงานพิธีฯ ห้องประทับพักพระอิริยาบถ และห้องรับรองแขก (VIP) และบริเวณต่างๆ ภายในศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก รวมทั้ง บริเวณประตูด้านหน้าทั้งสองด้าน ที่ถูกบรรจงตกแต่งขึ้นด้วยความวิจิตร

ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะกรรมการดำเนินการด้านตกแต่งสถานที่
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะกรรมการดำเนินการด้านตกแต่งสถานที่

     ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานคณะกรรมการดำเนินการด้านตกแต่งสถานที่ เล่าถึงแนวคิดในการประดับบตกแต่งบริเวณสถานที่ปีนี้ ว่า เรามีแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ไทย จีน อีสาน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปรียบเสมือนขุมปัญญาของชาวอีสาน  จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความรุ่มรวยทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ที่สำคัญคือมีการแพร่กระจายของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในดินแดนอีสาน จากหลักฐานที่ปรากฏโดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีการนำรูปแบบศิลปะไทยภาคกลาง และอิทธิพลศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนกับศิลปะพื้นถิ่นดั้งเดิมของชาวอีสาน จนเกิดการกลืนกลายเป็นงานศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะเป็นอัตลักษณ์ของอีสานขึ้น

ผศ.ดร.ปรีชาวุฒิ อภิระติง สาขาวิชาทัศนศิลป์ออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ปรีชาวุฒิ อภิระติง สาขาวิชาทัศนศิลป์ออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ปรีชาวุฒิ อภิระติง สาขาวิชาทัศนศิลป์ออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมสร้างสรรค์ออกแบบ ตกแต่งสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ ในปีนี้ กล่าวเสริมแนวคิด ว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารทางศาสนา สิม อุโบสถ หอไตร หอแจก ล้วนแล้วแต่เป็นการผสมกลมกลืน เป็นการปะปนทางวัฒนธรรมของทั้งไทย อีสาน และจีน สะท้อนผ่านงานด้านศิลปะอันวิจิตร

ผศ.ดร.บุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประดับตกแต่งสถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน 3 ความหมาย


ส่วนแรก คือฟอเย่ (Foye) หรือห้องโถงต้อนรับ ตรงบริเวณทางเข้า เรามีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกแบบให้มีบุษบก หรือมณฑป ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ หรือประดิษฐานพระพุทธรูป โดยเรานำเอาแนวคิดมาออกแบบประยุกต์ใหม่ใช้รูปแบบความเป็นไทยและจีนมาผสมผสานจุดนี้ใช้ติดตั้งตราพระธาตุพนม ซึ่งเป็นตราของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านของความรู้ ปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

จุดที่ 2 บนบริเวณเวที มีการนำเอาอิทธิพลรูปแบบของลวดลายทั้งประแจจีน ลวดลายเครื่องลายครามต่างๆ ที่เป็นทั้งไทยและจีนมาผสมผสานมาออกแบบใหม่ ประดับตกแต่งใหม่ให้เกิดความสวยงามบนเวที ส่วนแท่นประทับของพระองค์บนเวทีมีการนำสัตว์มงคลของจีนทั้งมังกร หงษ์ สิงห์ มาประดับประดาตามความเชื่อที่ว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่เสริมบารมีของพระองค์พระมหากษัตริย์ หรือจักรพรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่

จุดที่ 3 ส่วนของห้องประทับ เรานำแนวความคิดของผ้าแพรซึ่งเป็นผ้าจีนที่แพร่ขยายมาทางลุ่มน้ำโขงนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบตกแต่งห้องประทับด้านใน

ผลงานทั้งหมดนี้เป็นการแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่หลอมรวมบริบทความสัมพันธ์ทั้งไทย จีน อีสาน อย่างลุ่มลึกรอบด้าน ด้วยแนวคิดเชิงปรัชญาถ่ายทอดผ่านศิลปะการออกแบบ ตกแต่งสถานที่ประกอบพิธีอันวิจิตร ได้อย่างลงตัว เชื่อว่าผู้ที่เห็นผลงาน สามารถสัมผัสได้ถึงคุณค่าในสิ่งที่เรารังสรรค์ขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ

 

ข่าวบทความ :   เบญจมาภรณ์  มามุข

ภาพ :  บริพัตร  ทาสี  กองสื่อสารองค์กร/ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. / ปรีดี  ศรีตระกูล  กองพัฒนานักศึกษา มข.

 

Scroll to Top