นักวิจัย มข. แนะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมไม่ใช่คนบ้า ลงพื้นที่ “สร้างชุมชนเป็นรั้ว” ให้ความรู้ช่วยกันดูแลประคับครองตามวิถีคนอีสาน

ปัจจุบันสังคมไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) โรคที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของผู้สูงอายุ  นั้นก็คือโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้สูญเสีย ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวบางคน ต้องเสียสละออกมาดูแล ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ และทำให้คุณภาพชีวิตลดน้อยลง   รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน  จึงได้เรียนเชิญ ผศ.ดร. มยุรี   ลี่ทองอิน และ อาจารย์  ดร. สุทธินันท์  สุบินดี  สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ นายสราวุธ  โกศลวิทยานันต์  ผู้ช่วย อสม. ชุมชนสามเหลี่ยม 1 เทศบาลนครขอนแก่น  มาร่วมพูดคุยในรายการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ health.online

โรคสมองเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่ง ที่เป็นภัยเงียบในผู้สูงอายุ  จากการศึกษาพบสถิติ  ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงสูง  อายุมากกว่า 80 ปี มีโอกาสเป็น 1 ใน 3 คน อายุ 70-79 ปี มีโอกาสเป็น 1 ใน 7 คน อายุ 60 – 69 ปี มีโอกาสเป็น 1 ใน 14 คน    ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต โรคความดัน เบาหวาน ธัยรอยด์ เนื้องอก ติดเชื้อ สมองเคย ได้รับอุบัติเหตุ ขาดสารอาหาร  โรคหลอดเลือดหัวใจ สูบบุหรี่  กินเหล้า ใช้สารเสพติด มีญาติเคยเป็นยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นมากขึ้น  ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงสูง อายุมากกว่า 80 ปี อาการเตือนโรคสมองเสื่อม ขี้ลืม ถามบ่อย จำไม่ได้ว่าเมื่อกี้พูดอะไร ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น มักทำอะไรย้ำคิดย้ำทำ ชอบนึกว่ายังไม่ได้ทำ แต่ก่อนไม่เคยเป็น  อาการเตือนโรคสมองเสื่อม สับสนเวลา งงไม่คุ้นกับสถานที่ที่เคยไปเป็นประจำ แต่บอกว่าไม่เคยไป หลงวัน หลงเดือน หลงปี มักหลงทาง บอกทางกลับไม่ได้ กลับบ้านไม่ถูก ไม่กล้าออกจากบ้าน  อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวเงียบ ไม่เหมือนคนเดิม  นึกคำไม่ออกว่า สิ่งของนั้นชื่ออะไร ทอนเงินไม่ถูก ลืมคำ จำไม่ได้ บวกเลขไม่ถูก  วางของผิดที่ผิดทาง แต่ยังคิดว่าถูก เช่น เอารองเท้าไปใส่เตา เอาเตารีดไปใส่ตู้กับข้าว  พฤติกรรมเปลี่ยน อาหารที่เคยทำแต่กลับลืม ว่าต้องใส่อะไรก่อน –หลัง งงไม่รู้จะใส่เสื้อผ้าอย่างไร ใส่ผิดทาง  ลืมเรื่องที่เคยทำทุกวัน ประสิทธิภาพในการตัดสินใจลดลง

นายสราวุธ โกศลวิทยานันต์ ผู้ช่วย อสม. ชุมชนสามเหลี่ยม 1 เทศบาลนครขอนแก่น

นายสราวุธ โกศลวิทยานันต์  ผู้ช่วย อสม. ชุมชนสามเหลี่ยม 1 เทศบาลนครขอนแก่น  ได้เล่าประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ว่า ตนมีคุณแม่ พี่ชาย ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ว่าท่านทั้งสองได้เสียชีวิตแล้ว ปัจจุบันมีแม่ยาย อายุ 80 ปี กำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่ ซึ่งอาการหนักมาก จะมีอาการไม่ยอมนอน ไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร เดินวุ่นวาย เดินทุบตีข้าวของภายในบ้าน พยายามเก็บสิ่งของต่าง ๆ เพื่อที่จะออกจากบ้านของตัวเอง โดยเริ่มมีอาการได้ 1-2 ปีมาแล้ว แต่ก่อนที่จะอาการหนักก็จะแค่หลง ๆ ลืม ๆ คนในครอบครัวต้องสลับหมุนเวียนกันมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ทุกคนอ่อนล้าแต่ก็ทิ้งไม่ได้ ครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หนักสุดคือคนดูแล

ผศ.ดร.มยุรี ลี่ทองอิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มข.

ผศ.ดร.มยุรี  ลี่ทองอิน  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์  กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ว่า  บางคนเข้าใจสับสนว่า “โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมเป็นโรคเดียวกัน  แต่ความจริงแล้ว  โรคอัลไซเมอร์ เป็นประเภทหนึ่งของโรคสมองเสื่อม  ซึ่งสมองเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง หรือการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท ที่จะส่งผลต่อความจำ  การตัดสินใจ  เห็นชัดมากในเรื่องของพฤติกรรม อารมณ์ แต่สิ่งที่เป็นกังวลและเป็นภาระของครอบครัว คือ คนในครอบครัวหรือคนดูแลบางคนไม่เข้าใจ หงุดหงิด ที่ทำให้รู้สึกว่าทำไมต้องให้บอกหลายครั้ง ผู้ป่วยจะโดนดุ  แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยก็จะไม่รู้เรื่อง  แต่เขาจะสังเกตจากสีหน้าท่าทาง ว่าผู้ดูแลไม่มีความสุข ดูน่ากลัว ผู้สูงอายุอาจจะเงียบ ไม่พูด เวลาทำอะไรก็จะไม่บอกเพราะกลัวโดนดุ  ทำให้เกิดภาระที่จะต้องดูแลและมีผลต่อสภาพจิตใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน จะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีตัวอย่าง  ผู้ป่วยบางรายเอาอุจจาระไปป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในบ้านหรือในชุมชน ซึ่งผู้สูงอายุไม่รู้ว่านี้คืออุจจาระ หรือบางคนมีพฤติกรรมเดินวุ่นวายที่ทำให้รบกวนผู้ดูแลค่อนข้างมากเดินหลงไม่มีจุดหมาย  ถ้าให้โรคนี้เกิดก็จะเกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา
อาการเตือนโรคสมองเสื่อม  สำหรับอาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อมคือ เรื่องความจำที่จะจำวันสำคัญต่าง ๆ ไม่ได้ พูดซ้ำ ถามซ้ำ กิจวัตรประจำวันจะเสียในระยะแรกที่ไม่สามารถจัดการกับตัวเองได้ เมื่อมาถึงระยะที่สองก็จะมีอาการ วุ่นวาย เดินหลงทาง หงุดหงิด กิจวัตรที่ค่อนข้างยากเริ่มทำไม่ได้แล้วทั้งการ ล้างหน้า อาบน้ำ จ่ายเงิน หรือการนำของบางอย่างที่ไม่ควรไว้ไปไว้อีกที่หนึ่ง เช่น เอารองเท้าไปใส่ในตู้เย็น ปัสสาวะในตู้เย็น นำเตารีดใส่ในตู้กับข้าว จะเป็นปัญหาในด้านพฤติกรรมและอารมณ์ และระยะที่สามก็จะจำตัวเอง หรือลูกหลานไม่ได้ ขั้นรุนแรงก็อาจนอนติดเตียง เดินไม่ได้ แต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนมาก ระยะนี้เราได้รับเสียงสะท้อนจากครอบครัวว่า เหมือนเขาอยู่กับเรา แต่เขาจำอะไรไม่ได้
โรคสมองเสื่อมรักษาได้หรือไม่ กลุ่มอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากอัลไซเมอร์จะรักษาไม่ได้ ต้องเสื่อมไปตามสภาพ และอาการก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นปี แต่ถ้ามีสาเหตุที่เกิดจากโรคเบาหวาน หลอดเลือดสมอง ความดัน สามารถรักษาและควบคุมได้ด้วยการใช้ยา หรือสาเหตุจากการติดสุรา ก็ให้เลิกและใช้วิธีบำบัด สภาพสมองก็จะฟื้นกลับมาได้ครั้ง อีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โรคซิฟิลิส เอดส์ สามารถรักษาได้ ซึ่งถ้ามาเจาะเลือดแล้วเจอภาวะของไทรอยต่ำก็สามารถรักษาได้   สำหรับหลักการสำคัญอัลไซเมอร์คือ การดูแล ที่จะต้องดูแลความเป็นอยู่ การกิน แล้วต้องให้เขาทำในกิจวัตรที่ทำได้ เพื่อให้เขาได้ฟื้นฟูความทรงจำ กระตุ้นความจำ อย่าให้ผู้ป่วยอยู่แต่ในบ้าน ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้มีอาการเกี่ยวกับโรคประสาทหรือเป็นบ้า ต้องให้เวลาในการฟื้นฟูและรักษาความทรงจำ

อาจารย์ ดร. สุทธินันท์ สุบินดี อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มข.

จากปัญหาและความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม ทำให้ ผศ.ดร.มยุรี  ลี่ทองอิน  อาจารย์ ดร. สุทธินันท์  สุบินดี  และทีมวิจัยจากสาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยอาจารย์สุทธินันท์ สุบินดี  อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เล่าถึงการทำงานวิจัยในครั้งนี้ ว่า คณะวิจัยตั้งเป้าหมายไว้คือ  การทำให้  “ชุมชนเป็นรั้ว” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นชุมชนต้นแบบระดับประเทศ ที่สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ลงพื้นที่คัดกรองว่าสถานการณ์ของผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นอย่างไร จากนั้นก็คัดแยกกลุ่มที่มีความเสี่ยง กับกลุ่มที่เหมือนจะเป็นโรคสมองเสื่อม มีวิธีการดูแลอย่างไรในรูปแบบของชุมชนชาวภาคอีสาน  มีการทำงานร่วมกับ ทีม อสม. การคัดกรองจากแบบประเมิน ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ  กระบวนการคัดแยก โดยใช้แบบประเมินสภาพสมองซึ่งพยาบาลวิชาชีพจะเป็นคนทำ กลุ่มที่ประเมินสภาพสมองแล้ว จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ปกติไม่มีปัญหา กลุ่มที่เริ่มมีความจำบกพร่องเล็กน้อย (Mild cognitive impairment) เป็นกลุ่มตรงกลางระหว่างคนสมองเสื่อมกับสมองปกติที่สามารถช่วยป้องกันในบางส่วนได้ ไม่ให้เป็นสมองเสื่อมได้ และกลุ่มที่ 3 สงสัยแล้วว่าจะเป็นสมองเสื่อมจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะวินิจฉัยร่วมกันว่าผู้ป่วยจะเป็นสมองเสื่อมหรือไม่ โดยจะมีการประเมินและซักประวัติในด้านพฤติกรรม อารมณ์ จากนั้นก็จะส่งตัวกลับมายังชุมชนว่าครอบครัวจะต้องดูแลต่ออย่างไร จะต้องมียากินหรือไม่ ซึ่งจะมีพยาบาลเข้าไปช่วยเสริมในเรื่องของความรู้  กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองของผู้สูงอายุ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระยะที่ 2 และ 3  คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลจะเริ่มเครียด เหนื่อยล้า หรือบางคนมีภาวะซึมเศร้า ทีมพยาบาลก็จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสมองเสื่อม ที่จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ ซึ่งจุดเด่นของงานวิจัยนี้คือ ความเข้มแข็งระหว่างทีม  อสม. กับชุมชนที่ได้ร่วมมือกัน สร้างทีมผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุแบบพึ่งพิง ของกระทรวงสาธารณสุข  (Care Giver:CG)  ที่จะมาช่วยดูแลผู้สูงอายุประเภทติดเตียง เพื่อที่จะให้ครอบครัวได้ผ่อนคลายจากทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย  CG จะได้รับค่าตอบแทนจากเทศบาล  ในชุมชนชนบท CG จะสามารถทำหน้าที่ได้ง่าย ญาติผู้ป่วยจะให้ความไว้วางใจและ CG จะสนิทกับคนในชุมชน  แต่ในสังคมเมือง CG ค่อนข้างจะทำงานยาก เพราะสังคมเมืองขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัย ทำให้คนชุมชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยกัน สร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ทราบก่อนว่าสมองเสื่อมไม่ใช่อาการทางประสาท หรือเป็นบ้า    ถ้าผู้สูงอายุเป็นแล้วจะต้องดูแลอย่างไร เพื่อชะลอการความรุนแรงของโรคไม่ให้ลุกลาม  การประชาสัมพันธ์ รณรงค์ จัดอบรมให้ความรู้ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทางทีมวิจัยทำควบคู่กันไป กับการลงพื้นที่คัดกรอง ผู้ป่วยสมองเสื่อม โดยกิจกรรมที่ทำล่าสุดในพื้นที่ตำบลโคกงาม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ที่ได้นำผู้ป่วยสมองเสื่อมออกมาทำบุญ ตักบาตร ช่วยในเรื่องของการบริหารสมอง กระตุ้นสมอง ไม่ให้อยู่บ้านเฉย ๆ ได้ออกมาทำกิจกรรม และวางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร หรือมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง  สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือ ครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่ หมั่นพูดคุยกับผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นความจำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมองได้เป็นอย่างดี  สามารถดาวโหลดหนังสือ คลิก ลับคมสมอง  ชุดยากันลืม

ติดตามรับฟังรายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน ย้อนหลังได้ที่ Face book รายการวิทยุมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อชุมชน  หรือ radio.kku.ac.th

ข่าว : ชุตินันท์  พันธ์จรุง /วนิดา  บานเย็น
ภาพ :   ชุตินันท์  พันธ์จรุง

 

Scroll to Top