มข.ยกละครหุ่นไทยข้ามฝั่งโขง จับมือ สปป.ลาว สร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ อนุรักษ์วัฒนธรรม

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการนวัตศิลป์อีสานแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับศิลปินและสร้างเครือข่ายนักการละครหุ่นในประเทศลุ่มน้ำโขง นำผลงานการแสดงหุ่นของคณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง ไปเผยแพร่ต่างประเทศและเวิร์คชอปร่วมกับศิลปินหุ่นหลากหลายพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและบริการวิชาการเพื่อสังคม ขยายขอบเขตไปยังชุมชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปลูกฝังศิลปะละครหุ่นในเยาวชนทั้งสองประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 27-29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

             รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เผยว่า โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยคณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง ได้เดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  มีคณาจารย์รวมถึงนักศึกษาที่สาขาการแสดงชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ กับนักศึกษาสาขาดนตรีพื้นเมืองชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ (หลักสูตร 2 ปริญญา) ร่วมเดินทาง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงความแตกต่างทั้งลักษณะของหุ่น รูปแบบการแสดง และมีอัตลักษณ์โดดเด่นเฉพาะ ทำให้ศิลปินได้เรียนรู้วิธีการแสดงของแต่ละคณะ เพื่อพัฒนาสู่การสร้างเครือข่ายและผสานความร่วมมือของศิลปิน – นักการละครหุ่นของ สปป.ลาว ณ นครหลวงเวียงจันทน์ กับคณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศิลปะการแสดงหุ่นตลอดจนการแสดงอื่น ๆ อาทิ ละครลำ (หมอลำ) ละครเว้า (ละครเวที) และดนตรีพื้นเมือง ของทั้งสองประเทศร่วมกัน ซึ่งนับเป็นการต่อยอดศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป”

กิจกรรมเริ่มจากนคณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง และคณะหุ่นกระบองลาวได้นำเสนอผลงานของแต่ละคณะ ณ แขนงละครตุ๊กตา (ละครหุ่น) โดยคณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง นำเสนอการแสดง 2 เรื่อง ได้แก่ สินไซ และ พระสุธน-นางมโนรา ในขณะที่ คณะหุ่นกระบองลาว จัดแสดง 4 เรื่อง ได้แก่ ละครหุ่นอีป๊อกเรื่องสินไซ ตอนกุมภัณฑ์ลักพาตัวนางสุมณฑา ละครหุ่นร่วมสมัยเกี่ยวกับจิตสำนึกเรื่องขยะ ละครหุ่นชาวม้ง และละครหุ่นสร้างสรรค์เรื่องบุญข้าวประดับดิน โดยคณะละครหุ่นจากประเทศไทยได้การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมศิลปะและวัฒนธรรม กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ณ โรงละครกองละครแห่งชาติ สปป.ลาว

 

จากนั้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีกิจกรรมสร้างการแสดงหุ่นชุดใหม่ร่วมกัน โดยใช้บทเพลง “ปู่จัน” ของคำพู ทะวีวัน เป็นแกนหลักในการสร้างเรื่องและการแสดง โดยการแสดงหุ่นที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีชื่อว่า “ความฝันของปู่จัน – ย่าจัน” อันเป็นการทดลองผสานหุ่นและนักเชิดหุ่นของสองคณะเข้าไว้ด้วยกัน เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของศิลปินนักละครหุ่นมืออาชีพจาก สปป.ลาว และนักเชิดหุ่นมือสมัครเล่นจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ การแสดงถูกออกแบบและฝึกซ้อมด้วยระยะเวลาเพียง 30 นาที อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพและการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

ต่อมาในวันที่สอง คณะหุ่นทั้ง 2 ประเทศ ได้ออกแสดง ณ โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ฟ้าสีคราม มีเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาลสามจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วมชมจำนวนมาก และได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างล้นหลาม จากนั้นได้ไปจัดการแสดงที่วิทยาลัยศิลปะศึกษา โดยทางวิทยาลัยฯ ได้ร่วมนำเสนอผลงานการแสดง “ฟ้อนเต้ย” อันเป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่เสนออัตลักษณ์ของการฟ้อนแบบลาวได้อย่างงดงาม และในช่วงค่ำ คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง ได้เข้าชมการแสดงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะหุ่นข้าวเหนียวลาว ณ โรงละครเล็ก สมาคมฝรั่งเศสประจำ สปป.ลาว

วันสุดท้ายของโครงการ คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดง อาทิ ผศ.พชญ อัคพราหมณ์ อ.อาทิตย์ กระจ่างศรี อ.ดร.พงศธร ยอดดำเนิน จากคณะศิลปกรรมศาสตร์  นักศึกษาสาขาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ และนักศึกษาสาขาดนตรีพื้นเมือง ได้นำเสนอการแสดง ณ โรงละครใหญ่ วิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ และเปิดเวทีนำเสนอผลงานการแสดงหุ่น ณ แขนงละครลำ กองละครแห่งชาติ โดยหลังเสร็จสิ้นการแสดง  คณะทำงานทั้งสองประเทศ ได้เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และสะท้อนการทำงานการแสดงหุ่น ตลอดจนงานด้านศิลปะการแสดงของทั้งสองประเทศ สร้างเวทีเผยแพร่และพัฒนาอนุรักษ์วัฒนธรรมละครหุ่นให้อยู่คู่ริมฝั่งโขงในอนาคต

KKU brings Thai Puppet Theater across the Me Kong to join Lao PDR in creating new-generation artists and cultural conservation

https://www.kku.ac.th/16985

ลิ้งค์ ภาพ

https://drive.google.com/drive/folders/1dm8xX7IjmyArk1pLAbw8bWBLsdY9rznR?usp=sharing    

Scroll to Top