สาธิต มข. มอดินแดง คว้ารางวัลระดับเยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน บทพิสูจน์ความสามารถ แม้ไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ 

สาธิต มข. มอดินแดง คว้ารางวัลระดับเยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน บทพิสูจน์ความสามารถ แม้ไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ปลูกฝังหลักความคิดอย่างวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการโครงงานวิทยาศาสตร์ และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ มข. ด้านการศึกษา Education Transformation

     จากการที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) คว้ารางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์มาครอง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลสุดยอดแห่งปี Project Of the Year 2023 และ ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มาครองได้อีกหนึ่งรางวัลรางวัล คือ First Prize of Biological Science Category จากโครงงานที่ส่งเข้าประกวด คือ “การศึกษาการเลียนแบบพฤติกรรมการสื่อสารด้วยการกระพริบแสงในหิ่งห้อยสายพันธุ์ Abscondita terminalis (Olivier, 1833) เพื่อการเพิ่มประชากรหิ่งห้อยในพื้นที่อนุรักษ์ ม.ขอนแก่น” ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 9 (The 9th ASEAN Student Science Project Competition, ASPC 2023) ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนผู้พัฒนาโครงงาน คือ นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 และ นายบวรชัย สุขชัยบวร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อ.ดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ และ อาจารย์อลงกต ปีกลม โดยปีนี้มีประเทศอาเซียนเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 27 โครงงาน จาก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรกัมพูชา การได้รับ 2 รางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์มาครองครั้งนี้ โดยเฉพาะรางวัลสุดยอดแห่งปี นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของโรงเรียนที่ถือว่าไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์โดยตรง

อ.ดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
อ.ดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน

     อ.ดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ (อ.เพียง) อาจารย์ที่ปรึกษา เล่าว่า  เราจัดทำโครงงานนี้ขึ้นมา เพื่อสำรวจชนิดของหิ่งห้อยในระบบนิเวศ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นนำหิ่งห้อยมาศึกษาชีววิทยา พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการกะพริบแสง โดยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการจำแนกและระบุชนิดของหิ่งห้อย เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มปริมาณการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยทั้งในห้องปฏิบัติการและในสภาพธรรมชาติ สำหรับใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประชากรหิ่งห้อยในเขตพื้นที่อนุรักษ์ สอดคล้องตามนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์และจุดเที่ยวชมหิ่งห้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์หิ่งห้อย ซึ่งในปัจจุบันลดจำนวนลง จากการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่มาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ นอกจากนี้เรายังมีแนวคิดต่อยอดที่จะนำรูปแบบการกะพริบแสงของหิ่งห้อยไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยีการเกษตรชีวภาพในอนาคต

นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ (น้องมีน)
นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ (น้องมีน)

…โครงงานนี้สะท้อนความสนใจใคร่รู้
นางสาวอาภรพัฒน์ ธารเลิศ (น้องมีน) เล่าว่า โครงงานของเราเป็นการศึกษาการเลียนแบบพฤติกรรมการสื่อสารด้วยการกระพริบแสงในหิ่งห้อย ดังนั้น ความสงสัยร่วมอันดับแรกๆ ของคนจำนวนมากก็คือ แล้วเราจะเลียนแบบพฤติกรรมของแมลงไปเพื่ออะไร? “เราอยากจะเพิ่มปริมาณของหิ่งห้อยในสภาพแวดล้อมที่พวกเราอยู่ ซึ่งคือที่ขอนแก่น โดยการใช้แสงดึงดูดให้มันได้มาเจอกันมากขึ้น ซึ่งก็จะเกิดโอกาสของการผสมพันธุ์สูงขึ้นตามมา ซึ่งโครงงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนตั้งแต่ชั้น ม.3 ที่หนูพัฒนาต่อเนื่องมา” การทำโครงงานสะท้อนคุณค่าสำคัญ คือโครงงานนี้สะท้อนความสนใจใคร่รู้ และความพยายามที่ต่อเนื่องมาหลายปี และโครงงานนี้เป็นผลของความตั้งใจแก้ไขปัญหาบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นค่ะ

นายบวรชัย สุขชัยบวร (พี่บิ๊ก)
นายบวรชัย สุขชัยบวร (พี่บิ๊ก)

…โครงงานช่วยสร้างความหวังใหม่ในการริ่มเริ่มงาน
นายบวรชัย สุขชัยบวร (พี่บิ๊ก) โครงงานช่วยสร้างความหวังใหม่ในการริ่มเริ่มงาน มีการสร้างสรรค์ผลงานจากประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ได้มีโอกาสทดสอบความถนัดของตนเอง ก่อให้เกิดความรักความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีภายในกลุ่ม พร้อมทั้งเกิดความรู้ทางวิชาการที่กว้างขวางขึ้นและเกิดความภาคภูมิ ใจในความสำเร็จของงาน เวลาเราเดินไปดูโครงงานของเพื่อน ๆ ก็เจอบางโครงงานที่ผมเองก็ยังไม่เคยรู้เลยว่า มันมีความมหัศจรรย์แบบนี้ด้วยเหรอ วิทยาศาสตร์มีอย่างนี้ด้วยเหรอ คือโครงงานนั้นมีความมหัศจรรย์ในตัว และมีความเจ๋งในตัวด้วยครับ “ผมเรียนสายวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่ผมก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องหรอกครับ บางเรื่องที่มันซับซ้อนมาก ๆ ผมก็ไม่ได้สันทัดเหมือนกัน อย่างเช่นโครงงานจากสิงคโปร์ เรื่องที่เขาทำมีความแปลกใหม่ การนำเสนอและตอบคำถามของเขาน่าสนใจมาก”


…นักเรียนจะได้ประสบการณ์ ซึ่งเป็นรากฐานการเติบโต
อาจารย์เพียง เล่าเพิ่มเติมว่า “…ครูมองว่า รางวัลนั้นเป็นผลพลอยได้ เป็นรูปแบบปลายทางให้ทุกคนมองเห็น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ทักษะต่างๆ นั้นจะติดอยู่ที่ตัวนักเรียนต่อไป โครงงานเป็นการบูรณาการทักษะ คือนักเรียนอยากรู้อะไร สนใจอะไร อยากศึกษาอะไร อยากหาคำตอบอะไร ความอยากรู้และคำถามเหล่านั้นมันจะขับเคลื่อนให้เขาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้ สังเคราะห์ข้อมูลเองได้ หาคำตอบเองได้ แยกแยะความรู้ได้ระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น พูดคุยกับคนอื่นได้ แบ่งเวลาได้ มีการวางแผน จัดการชีวิตได้ ทักษะเหล่านี้ ครูมองว่าคือทักษะชีวิต ทักษะทางความคิด เป็นทักษะสำคัญสำหรับมนุษย์ที่จะอยู่ได้ในสังคมต่อไปในทุกสาขาวิชาชีพ เขาไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นก็เป็นสิ่งที่ประเทศของเรายังต้องการอีกมาก ตัวครูเองอยากให้ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ แทรกซึมไปในทุกสาขาวิชาชีพในอนาคตของเด็กไทย …”

อาจารย์ไพทูล นารคร รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา(มอดินแดง)
อาจารย์ไพทูล นารคร รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา(มอดินแดง)

…โรงเรียนเรา ไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์โดยตรง
อาจารย์ไพทูล นารคร รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) “ในฐานะผู้บริหาร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ลูกๆ นักเรียนของเราได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าในครั้งนี้ เพราะว่าโรงเรียนเรานั้นถือว่าไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่เราได้จัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้โครงงานเป็นฐาน”  สอดคล้องกับเป้าหมายของโรงเรียนในการมุ่งผลิตนักเรียนที่มีอัตลักษณ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรในยุคดิจิทัล และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น Education Transformation ซึ่งโรงเรียนเรามีความพร้อมในการส่งเสริมความสามารถ และการแสดงออกของเด็กๆ ในทุกๆ ด้าน ทั้งกีฬา สันทนาการต่างๆ รวมถึงด้านวิชาการ อย่างเช่นการส่งโครงงานเข้าประกวดในครั้งนี้ จริงๆแล้วโรงเรียนของเราไม่ใช่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนนักเรียนให้มีความคิดอย่างวิทยาศาสตร์ ผ่านกระบวนการโครงงานวิทยาศาสตร์ เด็ก ๆ ทุกคนจะทำโครงงานเป็นกลุ่มตามความสนใจ แล้วเราก็จัดนิทรรศการแสดง ผลงานทั้งหมด มีการประกวดในระดับโรงเรียน ซึ่งก็จะมีโครงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกคัดเลือกมาพัฒนาให้เป็นตัวแทนโรงเรียนสู่ระดับต่าง ๆ ซึ่งก็คงคล้ายคลึงกับในโรงเรียนอื่น ๆ อีกมากมายทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทำโครงงาน สามารถที่จะมอบประสบการณ์อันหลากหลายให้นักเรียน ต่อให้เป็นโครงงานที่ไม่ได้ออกเดินทางไปประกวดนอกสถานศึกษาก็ตาม.

 

บทความ : เบญจมาภรณ์  มามุข

ข้อมูล ภาพ  : อ.ดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

Scroll to Top