คณะเกษตร มข. ผนึก สปขท.ดันพืชวงศ์ถั่วไทย แก้วิกฤตอาหารขาดแคลน หนุนเกษตรกรไทย เพื่อความมั่นคงอาหารโลก

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมกับ สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย (สปขท.) จัดประชุมวิชาการพืชวงศ์ถั่วแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมวิจัย พืชวงศ์ถั่วไทย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร” หวังดันพืชวงศ์ถั่วไทย ให้เกิดเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี เพียงพอต่อห่วงโซ่และเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

 

 

     เมื่อวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม AG7011  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย (สปขท.) จัดพิธีเปิดการประชุมและประชุมวิชาการพืชวงศ์ถั่วแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมวิจัย พืชวงศ์ถั่วไทย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร” ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานฯ พิธีเริ่มต้นขึ้นโดย ผศ.ดร.ปิยะ กิตติภาดากุล นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน ต่อด้วยประธานฯ กล่าวเปิดงาน พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพืชวงศ์ถั่วประเทศไทย 4 ราย ประกอบด้วย 1.นายสมศักดิ์ อิทธิพงษ์ ข้าราชการบำนาญ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.นายสมชาย ผะอบเหล็ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 4.ดร.นิสา มีแสง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการดินด้วยระบบพืช กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่บรรยากาศการประชุมวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน บรรยายพิเศษ 2 เรื่อง คือ “นวัตกรรมวิจัยพืชวงศ์ถั่ว: พืชอาหารแห่งอนาคต…โอกาสและความท้าทายของประเทศไทย” และ “การขับเคลื่อนถั่วเหลืองของประเทศในมุมมองของภาคเอกชน” นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายอีก 2 เรื่อง คือ “เทคนิคการเขียนข้อเสนองานวิจัยเพื่อให้ได้ทุน” และ “เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจสอบความแตกต่างทางพันธุกรรม” และการเสวนา 1 เรื่อง คือ “พืชวงศ์ถั่ว..ทางรอดประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร” สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยรวมจำนวน 55 เรื่อง แบ่งเป็น ภาคบรรยาย จำนวน 14 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ จำนวน 41 เรื่อง และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย และแสดงผลิตภัณฑ์ จากภาครัฐและเอกชน  โดยผู้เข้าร่วมประชุมประชุมวิชาการฯ ประกอบด้วย นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ จากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 120 คน

ผศ.ดร.ปิยะ กิตติภาดากุล นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย
ผศ.ดร.ปิยะ กิตติภาดากุล นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย

     ผศ.ดร.ปิยะ กิตติภาดากุล  กล่าวในการรายงานว่า  การประชุมวิชาการพืชวงศ์ถั่วแห่งชาติ เป็นเวทีหนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัย นักวิชาการ นักส่งเสริมการเกษตร และผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีเวทีในการนำเสนอผลงานและความก้าวหน้าของผลงานวิจัยและพัฒนาพืชวงศ์ถั่วชนิดต่าง ๆ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงานวิจัยและพัฒนาพืชวงศ์ถั่วของประเทศร่วมกัน และเป็นการกระตุ้นให้นักวิจัยรุ่นใหม่ เห็นถึงความสำคัญของพืชวงศ์ถั่ว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืชวงศ์ถั่วให้มีความก้าวหน้า ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย อย่างยั่งยืน การประชุมวิชาการพืชวงศ์ถั่วแห่งชาติ จัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน โดยจัดครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2549 และจัดต่อเนื่องทุก 2 ปี โดยการจัดครั้งล่าสุด ครั้งที่ 7 จัดเมื่อปี 2562 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และได้เว้นไปในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่วนที่จังหวัดขอนแก่น เคยจัดการประชุมวิชาการพืชวงศ์ถั่วแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2554 และได้เวียนมาจัดเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้น 2 วัน คือระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566….. ผศ.ดร.ปิยะ กล่าว.

รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานกล่าวเปิดงาน
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานกล่าวเปิดงาน

     รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร กล่าวในพิธีเปิด ความว่า พืชวงศ์ถั่ว เป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน เนื่องจากประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและใช้ประโยชน์จากพืชวงศ์ถั่ว ในแต่ละปีจึงมีการไหลเวียนของเงินตราในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิต การตลาด การแปรรูป และการใช้ประโยชน์ ทั้งภายในและต่างประเทศ มูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การผลิตถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และถั่วอื่น ๆ ของประเทศไทย ยังมีปัญหาผลผลิตต่ำ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่นำเข้ามากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการใช้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาพืชวงศ์ถั่วอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วของประเทศ ให้ผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น สามารถลดการนำเข้า นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ในที่สุด การจัดประชุมครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานวิจัยพืชวงศ์ถั่วของประเทศ เนื่องจากเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย และการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ระหว่างนักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการสร้างองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น องค์ความรู้เหล่านี้ จะช่วยปรับปรุงทั้งผลผลิตและคุณภาพของพืชวงศ์ถั่วให้ดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการบรรยายพิเศษ การเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ การนำเสนอผลงานวิจัย และการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่ง จะช่วยพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ…….รศ.ดร.ดรุณี กล่าว.

 

 

ภาพ  ข่าว : เบญจมาภรณ์  มามุข

Faculty of Agriculture, KKU, joins Plant Breeding and Multiplication Association of Thailand to solve the shortage of food and to support Thai farmers for the world food security

https://www.kku.ac.th/16697

 

Scroll to Top