“เยลลี่มะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม”โคโค่ดำเนิน ผลงานนักวิจัย มข.คว้ารางวัลชนะเลิศ! ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ที่มีต้นแบบและงานวิจัยรองรับ จากเวที Agri Plus Award 2022

ผลงาน “เยลลี่มะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม” ผลิตภัณฑ์จากโครงการวิจัย การพัฒนากระบวนการผลิตและการศึกษาอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เยลลี่เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% ผสมคาราจีแนน ภายใต้การค้นคว้าของ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ที่มีต้นแบบและงานวิจัยรองรับ จากเวที Agri Plus Award 2022 : ส่งเสริมเกษตรสร้างสรรค์ นวัตกรรมสร้างเสริม ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับรางวัล Agri Plus Award 2022 : ส่งเสริมเกษตรสร้างสรรค์ นวัตกรรมสร้างเสริม”เป็นโครงการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตรไทย ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งจัดโดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดสากล ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หันมาผลิตสินค้าเกษตรโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาแปรรูปสินค้า และสร้างการรับรู้และแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนพัฒนาสินค้าเกษตรไทยด้วยนวัตกรรม

ดร.ปฏิมากร คล้ายประสิทธิ์ (ซ้าย)

ดร.ปฏิมากร คล้ายประสิทธิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับความสำเร็จครั้งนี้ว่า ผลงาน “เยลลี่มะพร้าวน้ำหอมพร้อมดื่ม” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ทีมนักศึกษา นักวิจัย สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ผู้ประกอบการ บริษัท โคโค่ดำเนิน จำกัด

“จุดเริ่มต้นคือผู้ประกอบการเข้ามาปรึกษา ว่าตนเองเป็นคนราชบุรี มีสวนมะพร้าว ต้องการที่จะแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อร่อย สะดวก ง่ายต่อการบริโภค โดยสนใจผลิตเป็นเจลลี่บรรจุในซอง เราจึงให้ข้อมูลผู้ประกอบการไปว่า ถ้าไปใช้กระบวนการผลิตในลักษณะนี้ ใช้งบประมาณเท่าใดซึ่งเราได้แนะนำให้ผู้ประกอบการหาทุนวิจัย ผู้ประกอบการออกเงินส่วนหนึ่ง และ รัฐบาลออกเงินอีกส่วนหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นประมาณ ปี 2560 มีโครงการ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยในลักษณะนี้ เราจึงแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และ ขออนุญาตจากผู้ประกอบการ ดึงนักศึกษามาช่วย 2 รุ่น”

ต่อจากนั้น ดร.ปฏิมากร จึงได้นำโจทย์ของผู้ประกอบการมาพัฒนาเป็นโครงการ “การพัฒนากระบวนการผลิตและการศึกษาอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เยลลี่เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% ผสมคาราจีแนน” ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ในรายวิชา ปัญหาพิเศษทางเทคโนโลยีการอาหารเรียนรู้ และมีพี่นักศึกษาระดับปริญญาโทช่วยดูแลในการค้นคว้าวิจัยร่วมด้วย

“การทำงานตรงนี้เป็นการเชื่อมโยงโจทย์จริงของผู้ประกอบการ กับ การเรียนการสอน เราอยากมีส่วนร่วมในการช่วยผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาที่เขาต้องการ หรือ สร้างนวัตกรรมอาหารตามที่เขาสนใจ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญ หรือ นักวิจัยเองก็จะได้เรียนรู้ฝึกการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการเรียนการสอน ในการทำวิจัยด้วย กว่าจะได้รางวัลครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนทั้งสูตร ทั้งกระบวนการฆ่าเชื้อ กระบวนการให้ความร้อน กระบวนการผลิต ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งระหว่างทางก็มีกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น และเราก็ปรับมาเรื่อยๆจนกระทั่ง ได้สูตร Final ที่เป็นเครื่องดื่มเยลลี่น้ำมะพร้าวน้ำหอมแท้100%  ไม่ใส่วัตถุกันเสีย หวานธรรมชาติ เก็บได้นานในอุณหภูมิห้อง 2 ปี ที่ผู้ประกอบการนำไป สู่ขั้นตอน ODM (Original Design Manufacturer) และ เข้าสู่กระบวนการแข่งขัน จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ที่มีต้นแบบและงานวิจัยรองรับ จากเวที Agri Plus Award 2022 ได้ในที่สุด”

นอกจากความสำเร็จทางด้านนวัตกรรมด้านอาหารแล้ว เบื้องหลังความสำเร็จอีกประการ ดร.ปฏิมากร  มองว่า เป็นการแบ่งหน้าที่ และ ทำงานร่วมกันอย่างเข้าอกใจเข้าใจ ระหว่าง นักวิจัย และ ผู้ประกอบการ

“ผู้ประกอบการ มักจะมีความคาดหวังว่าฉันจะต้องได้ในสิ่งที่ฉันต้องการ ซึ่งบางทีระยะเวลามันไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการก็ต้องเข้าใจนักวิจัย ขณะเดียวกันนักวิจัยเองก็ต้องเข้าใจผู้ประกอบการ หมายความว่าทั้งผู้ประกอบการ และ นักวิจัยจะต้องจับมือร่วมกัน และ เข้าใจว่าจะต้องมีการรอคอย อาจารย์นำโจทย์ไปสู่การวิจัยของนักศึกษา เป็นการปรับการเรียนรู้ให้เห็นโจทย์จริง ว่าการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการจะเป็นลักษณะนี้ ปัญหาที่เจอระหว่างการทำงานจะเป็นลักษณะนี้ ดังนั้น เราต้องปรับเข้าหากัน เราจะต้องฟังว่าผู้ประกอบการต้องการอะไรแน่ๆ บางครั้งนักวิจัยอาจจะยึดตัวตนว่า จะต้องเป็นแบบนี้ ทฤษฎีเป็นแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการขนาดนั้น ผู้ประกอบการต้องการเพียงแค่นิดหน่อยให้เขาไปต่อยอดได้ ฉะนั้นเราจะต้องปรับ หรือ หาวิธีการที่จะต้องร่วมมือกันทำ ฉะนั้นหากผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจ หรือ ต้องการรับคำปรึกษา เรายินดีมาก สามารถติดต่อที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เลย”ดร.ปฏิมากร กล่าวปิดท้าย

“Jelly Drink from Fragrant Coconut Juice” – by KKU research team and COCO Damnoen Co. Ltd. wins first prize at the Agri Plus Award 2022

https://www.kku.ac.th/15135

Scroll to Top