คณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน สถาปัตย์ มข. โชว์ศักยภาพจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและสร้างสรรค์ลายผ้ามัดหมี่อัตลักษณ์อุทยานธรณีขอนแก่น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอ เรื่อง การเสนออุทยานธรณีขอนแก่นเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้เสนออุทยานธรณีขอนแก่นสมัครเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ก่อนยื่นความจำนงต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ต.ค. – 30 พ.ย.นี้ และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีขอนแก่นเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (มติชนออนไลน์, 22 มิ.ย.2565)

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมอัตลักษณ์อุทยานธรณีขอนแก่นเชื่อมโยงเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 นำโดย รศ.ดร.ชูพงศ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.ชนัษฎา จุลลัษเฐียร และ อาจารย์ ดร.เกศินี ศรีสองเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบ สายวิชาการออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น นำคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท  ได้แก่ นายทวีศักดิ์ จัตวัน , นายนิวัฒน์ แสนสีมนต์ และนายพีรดนย์ ก้อนทอง ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมทั้ง นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2-3 สายวิชาการออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาลายผ้าอัตลักษณ์อุทยานธรณีขอนแก่น ทั้งนี้ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกับองค์การบริหารจังหวัดขอนแก่น  ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น  สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพจังหวัดขอนแก่น สมาคมส่งเสริมผ้าไทยจังหวัดขอนแก่น และพัฒนาการจังหวัดขอนแก่น ในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ อ.เวียงเก่า และ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น จำนวน 8 ผืน (8 กลุ่มผู้ผลิตชุมชนในพื้นที่) และมีกิจกรรมที่กำลังจะดำเนินต่อไปคือ การนำผ้าอัตลักษณ์ ออกแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าพื้นถิ่นอัตลักษณ์อุทยานธรณี ขอนแก่น

ทั้งนี้  จังหวัดขอนแก่น ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kean Geopark) เป็นอุทยานธรณีท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และได้รับรองให้เป็นอุทยานธรณีประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเวียง และอำเภอเวียงเก่า รวมพื้นที่ประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร โดยสิ่งที่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโกให้ความสำคัญมี 4 ประการ ประกอบด้วย มรดกทางธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ การบริหารจัดการ การรับรู้ของประชาชน และเครือข่าย โดยอุทยานธรณีขอนแก่นได้มีการดำเนินการครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ทั้งนี้ หากอุทยานธรณีขอนแก่นได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยว แหล่งธรณีวิทยาไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งเป็นต้นกําเนิดการค้นพบไดโนเสาร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการอนุรักษ์และศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเป็นมรดกที่สําคัญของประเทศไทย รวมทั้งแหล่งธรณีวิทยาอื่นๆ ที่อยู่ภายในอุทยานธรณีขอนแก่นจะเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อให้อุทยานธรณีขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวบรรพชีวินวิทยาเพื่อคนทั้งมวล เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เปิดรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย จากทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยาน ธรณีขอนแก่นเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 100,000 คน/ปี ประมาณรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ย เพิ่มขึ้นราว 150 ล้านบาท/ปี

 

ข่าว : ผศ.ดร. วาริน บุญญาพุทธิพงศ์ 
ภาพ
: มติชนออนไลน์ (2565, 22 มิถุนายน) บิ๊กตู่ ปลื้ม ผ้าไหมมัดหมี่ลายไดโนเสาร์ ออกแบบสวย.(https://www.matichon.co.th/politics/news_3411653)  และ คณาจารย์กับผู้ร่วมโครงการ
เผยแพร่
: กรรณภัสส์ สิริเกียรติ

Scroll to Top