The QUALI-DEC Project – คลอดปลอดภัย (Safe Birth Thailand) โครงการเพื่อสนับสนุนให้คุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัวมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดอย่างปลอดภัย

‘การผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็น’ นับว่าเป็นเรื่องที่สมควรยกมาเป็นประเด็นที่ควรระวังสำหรับบรรดาคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อย่างเร่งด่วน ด้วยในขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราการผ่าตัดคลอดสูงมากถึงร้อยละ 35-40 หรือ 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด นับว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศจีน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่าการผ่าตัดคลอดที่มีความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์นี้ ไม่ควรเกินร้อยละ 15 ความเข้าใจและค่านิยมที่ผิด ๆ ของว่าที่คุณแม่ยุคใหม่ที่อาจมีข้อมูลทางการแพทย์ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าการผ่าตัดคลอดนั้นปลอดภัยเทียบเท่ากับการคลอดธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริง หรือบางคนอาจจะต้องการผ่าตัดคลอดเพียงเพราะต้องการความสะดวกสบาย อยากหลีกเลี่ยงการเจ็บครรภ์คลอด เชื่อถือเรื่องฤกษ์ยาม หรือเกรงว่าการคลอดธรรมชาติจะทำให้เกิดความหย่อนยานของอวัยวะ ซึ่งทั้งหมดนับว่าเป็นค่านิยมและความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไปซึ่งอาจเกิดจากการฟังคำบอกเล่ากันต่อ ๆ มา
การผ่าตัดคลอดที่มีอัตราสูงขึ้นจนน่าวิตกทั่วโลกและเริ่มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของแม่และทารกในระยะสั้นและในระยะยาว ตลอดไปจนถึงผลกระทบที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น องค์การอนามัยโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้พยายามหาทางลดจำนวนการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็นขึ้นผ่านทางโครงการวิจัย QUALI-DEC (QUALIty DECision-making = การตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ) หรือในประเทศไทยใช้ชื่อว่า โครงการ “คลอดปลอดภัย” ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้สตรีตั้งครรภ์และผู้เกี่ยวข้อง สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดอย่างมีคุณภาพจากแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็น

จากการศึกษารวบรวมข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มาอย่างมากมายและหลากหลาย ทีมวิจัยของโครงการ QUALI-DEC ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก จึงได้สรุปการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการคลอดสองแบบ ได้แก่ การคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดและการผ่าคลอด โดยได้สรุปข้อมูลที่ได้ศึกษามาแล้วดังกล่าวไว้ในคู่มือผู้คลอด ที่ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ หรืออ่านได้ผ่านทางเว็บไซต์คลอดปลอดภัย.com (www.คลอดปลอดภัย.com) หรือสามารถใช้งานคู่มือนี้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นในมือถือที่ชื่อว่า “QUALI-DEC” ได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ทางแอปสโตร์หรือเพลย์สโตร์จากสมาร์ทโฟนของท่านเอง โดยสามารถใช้งานได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเวียดนาม


โครงการ QUALI-DEC เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนา (Research and Development Institute – IRD) ประเทศฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรมกับคณะกรรมาธิการยุโรป Horizon 2020 และ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอาร์เจนติน่า และประเทศเบอร์กิน่าร์ ฟาร์โซ่ และผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วโลก ในแต่ละประเทศได้นำเอาเครื่องมือ QUALI-DEC ไปปฏิบัติทดลองใช้ในโรงพยาบาลตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีแพทย์และนักวิจัยในโรงพยาบาลนั้น ๆ เป็นผู้ให้คำแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงความแตกต่าง ประโยชน์และความเสี่ยงของการคลอดในแต่ละรูปแบบ สำหรับในประเทศไทยมีโรงพยาบาลทั้งสิ้นจำนวน 8 แห่งเข้าร่วมในโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลศริริราช โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยในประเทศไทยนั้นนับว่าเป็นการขานรับการประกาศจุดยืนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเรื่องการผ่าตัดคลอด โดยระบุไว้ชัดเจนการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จะเพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอดหรือการคลอดธรรมชาติ

สำหรับเครื่องมือ QUALI-DEC ที่จะนำไปปฏิบัติทดลองใช้ในแต่ละโรงพยาบาลเพื่อช่วยลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็นนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกันคือ
1) การใช้ ‘ผู้นำทางความคิด‘ (opinion leaders) อันได้แก่แพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงด้านสูตินรีเวชศาสตร์เพื่อช่วยให้ข้อมูลสนับสนุนและชี้นำทิศทางของเวชปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม
2) ‘การตรวจสอบและการให้ผลสะท้อนกลับ’ (audit & feedback) หมายถึง การทบทวนและตรวจสอบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจผ่าตัดคลอด โดยจะมีการให้ผลสะท้อนกลับเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น
3) การมี ‘เพื่อนผู้คลอด’ (companionship) คือการอนุญาตให้ญาติใกล้ชิดหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้คลอดได้มีบทบาทในการสนับสนุนระหว่างการคลอด
4) ‘เครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ’ หรือ คู่มือผู้คลอด (decision analysis tool – DAT) เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการช่วยสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์ในช่วงระยะเวลาระหว่างการตั้งครรภ์และเตรียมการคลอด (สามารถดาวน์โหลดคู่มือผู้คลอดได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.คลอดปลอดภัย.com)

สามารถติดตามข้อมูลที่เกี่ยวกับการคลอดอย่างปลอดภัยนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.คลอดปลอดภัย.com หรือผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียได้แก่ facebook, youtube, Instagram, twitter ในชื่อ คลอดปลอดภัย – Safe Birth Thailand โดยจะมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการคลอดอย่างปลอดภัยนี้โดยสม่ำเสมอ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 0622185385 อีเมล์ safebirththailand@gmail.com

ข่าว/ภาพ: โครงการ Quali-Dec ประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top